ข้อเสนอของพรรคไทยรักไทยที่กำหนดจุดยืนในการเจรจาหาทางออกทางการเมืองว่า
พรรคไทยรักไทยพร้อมจะเจรจา หรือ ดีเบต 3 ฝ่าย ตามข้อเสนอของพีเน็ต ในวันที่
24 มีนาคม 2549 โดยให้ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ได้ แต่ทั้งนี้เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะต้องยอมปฏิบัติตาม
2 เงื่อนไข คือ
หนึ่ง ภายหลังการดีเบตผ่านทางถ่ายทอดสดแล้ว
ทุกฝ่ายต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549
ว่าเป็นที่สิ้นสุดและ
สอง ก่อนจะออกเวทีดีเบตหนึ่งวัน กลุ่มพันธมิตรฯจะต้อง
ยุติการชุมนุมและเคลื่อนไหว
ซึ่งข้อเสนอนี้ถือว่าสิ้นสุดและจะไม่รับการต่อรองใด ๆ อีก
แม้แกนนำเครือข่ายพันธมิตรฯได้ออกมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวแล้ว
แต่หากพิเคราะห์ข้อเสนอของพรรคไทยรักไทย
นับเป็นข้อเสนอที่ยอมรับไม่ได้
เพราะสะท้อนท่าทีของความไม่จริงใจในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ
แต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงกลเกมทางการเมืองที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็น
เบี่ยงเบนความรับผิดชอบออกจากฝ่ายรัฐบาล
การยื่นข้อเสนอการดีเบตแบบมีเงื่อนไขไปยังเครือข่ายพันธมิตรฯ
นับเป็นความพยายามโยนความรับผิดชอบที่ตกอยู่กับนายกฯไปให้ฝ่ายตรงข้าม
เพราะก่อนหน้านี้ นายกฯได้หลุดปากประกาศยอมรับคำท้าดีเบต 3 ฝ่าย
ในรายการถึงลูกถึงคนเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา
คำพูดดังกล่าวจึงได้กลายเป็นพันธนาการผูกมัดต่อนายกฯ
ให้ต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง ทั้ง ๆ ที่พยายามหลีกหนีการดีเบตออกทีวีมาโดยตลอด
ข้อเสนอข้างต้นของพรรคไทยรักไทยเป็นกลยุทธ์ในการเปลี่ยนฐานะของตนเอง
จากฝ่ายรับให้กลายเป็นฝ่ายรุก โดยโยนภาระที่นายกฯต้องตัดสินใจรับคำท้าดีเบตจากเครือข่ายพันธมิตรฯ
ให้เป็นภาระของเครือข่ายพันธมิตรฯ ที่ต้องตัดสินใจรับคำท้าดีเบต
ตามเงื่อนไขที่พรรคไทยรักไทยกำหนดขึ้น ทั้ง ๆ ที่พรรคไทยรักไทยทราบอยู่แล้วว่า
เครือข่ายพันธมิตรฯไม่มีทางที่จะยอมรับข้อเสนอที่ไม่ยุติธรรมดังกล่าวอย่างแน่นอน
เมื่อเป็นเช่นนี้
เราจึงสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า
ฝ่ายรัฐบาลจะนำคำปฏิเสธของเครือข่ายพันธมิตรฯ ไปเป็นข้ออ้างให้นายกฯหลบหนีการดีเบตออกโทรทัศน์ต่อไปได้อีก
และยังอาจนำเอาท่าทีการปฏิเสธของเครือข่ายพันธมิตรฯ
ไปพูดเพื่อโจมตีได้ว่า เครือข่ายพันธมิตรฯไม่กล้ารับคำท้าดีเบตของนายกฯ
เบี่ยงเบนเป้าการโจมตีออกจากตัวนายกฯ
การยื่นข้อเสนอของพรรคไทยรักไทยต่อพีเน็ต มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ มีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นของการดีเบต
ออกจากการรวมศูนย์ที่ตัวนายกฯ ไปสู่ปัญหาของรัฐบาล โดยอ้างว่า
ประเด็นปัญหาไม่ได้หยุดอยู่ที่ครอบครัวของนายกฯเท่านั้น
แต่เป็นความแตกต่างในการมองนโยบาย
เช่นเดียวกับการกำหนดตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่จะมาดีเบต ที่กำหนดให้เป็นคนอื่นในพรรคไทยรักไทย
โดยระบุว่า
จะเป็นคนที่มีความรู้
ในทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามสงสัย ทั้ง ๆ
ที่นายกฯทักษิณน่าจะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่มีความรู้ในทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามสงสัย
ท่าทีดังกล่าวนับว่าแตกต่างจากท่าทีของนายกฯที่เคยพูดในรายการถึงลูกถึงคนว่า
ตนเองยินดีดีเบตออกทีวีกับตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านและเครือข่ายพันธมิตรฯ
ฝ่ายละ 1
คน
ท่าทีดังกล่าวจึงเป็นเพียงกลยุทธ์การเบี่ยงเป้าหมายการโจมตีออกจากตัวนายกฯทักษิณ
ด้วยพรรคไทยรักไทยทราบดีว่า การให้นายกฯออกดีเบตจะเป็นผลเสียมากกว่าได้
เพราะนายกฯจะไม่สามารถตอบคำถามของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างชัดเจน
และมีความเป็นไปได้ที่ตัวแทนของพรรคไทยรักไทยจะใช้ข้ออ้างว่า
ไม่สามารถตอบคำถามแทนนายกฯทักษิณได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถามบางประการ
เบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ของการดีเบต
การยื่นเงื่อนไขในการจัดดีเบต โดยแลกกับการยุติการชุมนุม
และการให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 2
เมษายน 2549
แสดงให้เห็นท่าทีของฝ่ายรัฐบาลที่มองว่า การดีเบตเป็นเพียงพิธีกรรม
หรือเป็นการแสดงปาหี่ที่พยายามทำให้ผ่าน ๆ
ไปเท่านั้น แต่ไม่ใช่เพื่อการทำความจริงให้ปรากฏ
ฝ่ายรัฐบาลพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจผิดไปว่า
การดีเบตครั้งนี้เป็นการหาเสียงเลือกตั้งเหมือนดังที่ต่างประเทศเขาทำกัน
จึงกำหนดเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
โดยอ้างว่าให้เป็นการตัดสินใจของประชาชนหลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลจากการ
ดีเบตแล้ว
แต่ในความเป็นจริง
วัตถุประสงค์ของการดีเบตครั้งนี้ คือ การที่นายกฯจะต้องแสดงข้อมูล เหตุผล
และหลักฐานที่สามารถ
หักล้างข้อกล่าวหาต่าง ๆ
ที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านและประชาชนผู้ชุมนุมมีข้อสงสัยต่อนายกฯ
ดังนั้นการยุติการชุมนุมจึงควรเกิดขึ้นจากความพึงพอใจที่ประชาชนได้รับจากคำตอบของนายกฯ
มิใช่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อแลกเปลี่ยนกับการจัดให้มีการดีเบต
เงื่อนไขนี้ของฝ่ายรัฐบาลจึงไม่แตกต่างจากพฤติกรรมที่พรรคไทยรักไทยเคยปฏิบัติมา
ในช่วงที่ครองเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ
การโหวตเพื่อลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ
ซึ่งพรรคไทยรักไทยไม่เคยสนใจเหตุผลของการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ แต่กลับใช้วิธีการ
พวกมากลากไป
โหวตเอาชนะในสภามาโดยตลอด
การที่ฝ่ายรัฐบาลมิได้มีท่าทีที่จริงใจจะเข้าร่วมการเจรจา ด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรม
แต่กลับพยายามเล่นการเมืองเพื่อชิงความได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา
ทำให้การยุติปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน
จึงไม่อาจได้ข้อยุติด้วยการเจรจาของฝ่ายต่าง ๆ
--------------------------------------