การชี้แจงการเปิดประมูลนานาชาติ (International
Bidding) ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจคต์
ในวันที่ 26 มกราคม 2549 ที่จะมาถึงนี้
แม้รัฐบาลจะกล่าวอย่างเป็นมั่นเหมาะว่าการประมูลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างโปร่งใส
แต่เงื่อนไขการประมูลที่รัฐบาลค่อย ๆ เผยออกมาทีละเล็กทีละน้อยนั้น
เต็มไปด้วยความน่าสงสัยและเคลือบแคลงใจ โดยเฉพาะการที่รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า เงื่อนไขมีเพียงอย่างเดียว
คือไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ไม่ต้องมีแบบแผนมาควบคุม
ไม่ต้องใช้ระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง
ไม่จำเป็นต้องใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบาร์เดอร์เทรด
ไม่ต้องทำหนังสือชี้แจงข้อสงสัยให้รัฐบาลแต่สามารถเข้ามาชี้แจงด้วยวาจาได้ในทันที
แม้จะอ้างว่าที่ทำไปเพื่อลดเงื่อนไขและสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในโครงการระดับยักษ์มากยิ่งขึ้นก็ตาม
แต่รัฐบาลสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่าการประมูลที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นไปอย่างโปร่งใสชอบธรรมอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ความไม่โปร่งใสในการประมูลที่ไม่มีระเบียบแบบแผน
เนื่องจากเมื่อไม่ได้ระบุให้ชัดเจนถึงระเบียบแบบแผนในการประมูล
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินย่อมมีความยากลำบากในการตรวจสอบความโปร่งใสของการประมูล
รวมทั้งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในโครงการต่าง ๆ
อาจทำให้หน่วยงานตรวจสอบของไทยไม่สามารถจับได้ไล่ทันในกลโกงต่าง ๆ ที่อาจซ่อนอยู่
ความไม่โปร่งใสในการใช้ดุลพินิจในการเลือกผู้ชนะการประมูล
เนื่องจากโดยปกติแล้ว การประมูลงานใด ๆ ก็ตามต้องมีการกำหนดทีโออาร์หรือข้อกำหนดของโครงการเสียก่อน
แต่สำหรับโครงการนี้รัฐบาลไม่ได้กำหนดทีโออาร์
แต่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมเสนอแผนการดำเนินโครงการเพื่อให้รัฐบาลเลือก
เป็นที่น่าสงสัยว่าหากแผนโครงการของแต่ละบริษัทมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
รัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไรเลือกแผนของผู้เสนอโครงการ นอกจากใช้ดุลพินิจในการเลือก
จำนวนเงินที่มากมายมหาศาลในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่
หากใช้เพียงดุลพินิจในการคัดเลือกดูจะไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินนัก
ความไม่โปร่งใสในการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วยวาจา
การที่รัฐบาลเปิดช่องทางในการซักถามข้อสงสัยจากผู้ยื่นแบบเข้าร่วมประมูล
โดยสามารถเรียกมาชี้แจงเพื่อตอบข้อสงสัยได้ด้วยวาจา
ไม่ต้องตอบเป็นเอกสารเหมือนในอดีต
แม้จะทำให้เกิดความรวดเร็วและอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าการตอบเป็นเอกสาร
แต่ในอีกด้านหนึ่ง
อาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันอย่างไม่โปร่งใส
โดยปราศจากหลักฐานการชี้แจงที่เป็นลายลักษณ์อักษร
แม้การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้ระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง
ซึ่งมีการกำหนดกฎระเบียบแบบแผนชัดเจนในการประมูล
แต่ยังมีการตรวจสอบพบปัญหาการทุจริตกันอย่างมหาศาล แล้วการประมูลที่ไร้เงื่อนไข
โดยรัฐบาลที่มีข้อครหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จะมีหลักประกันอย่างไรว่า
จะไม่นำไปสู่การโกงกินไร้พรมแดนครั้งยิ่งใหญ่