จากการที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย
ด้วยวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท
โดยใช้วิธีการประมูลแบบเปิดกว้างให้ผู้ลงทุนต่างประเทศนำเสนอรูปแบบการก่อสร้าง
รูปแบบการเดินรถ และเลือกเส้นทางที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน
โดยไม่มีการกำหนดทีโออาร์ที่ชัดเจน
และคาดว่าจะเปิดประมูลและคัดเลือกผู้รับเหมาได้ในเดือนพฤษภาคม 2549
การใช้วิธีการนี้แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าเนื่องจากประเทศไทยไม่มีองค์ความรู้จึงจำเป็นต้องให้ชาวต่างชาติเข้ามาเสนอแนวทางการลงทุน
และยังอ้างอีกว่าเป็นวิธีที่จะทำให้ต่างชาติขนเงินมาลงทุนในไทย
ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการกู้เงินจากต่างชาตินั่นเอง นอกจากนั้นการใช้วิธีการดังกล่าวยังมีข้อสงสัยในเรื่องความชอบธรรม
และความโปร่งใสของรัฐบาล ดังต่อไปนี้
ความไม่ชอบธรรม โดยปกติแล้ว
การประมูลงานใด ๆ ก็ตามต้องมีการกำหนดทีโออาร์ก่อน แต่สำหรับโครงการนี้รัฐบาลไม่ได้กำหนดทีโออาร์
แล้วให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมเสนอแผนการดำเนินโครงการเพื่อให้รัฐบาลเลือก
เป็นที่น่าสงสัยว่า หากแผนโครงการของแต่ละบริษัทมีข้อดีที่แตกต่างกัน
รัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไรเลือกแผนของผู้เสนอโครงการ นอกจากใช้ดุลพินิจในการเลือก
จำนวนเงินที่มากถึง 5.5 ล้านบาทในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่
หากใช้เพียงดุลพินิจในการคัดเลือกดูจะไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินนัก
ความไม่โปร่งใส
เนื่องจากรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาการคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อน
หากใช้วิธีนี้จะยิ่งทำให้เป็นที่เกิดความสงสัยในความโปร่งใสของรัฐบาลมากขึ้น
เช่นจะมีการล็อกสเป็กบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือไม่
วิธีการเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่ง หากเป็นรัฐบาลที่มีความสุจริต โปร่งใส
และเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ แต่จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
สำหรับรัฐบาลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องความสุจริต
เงินลงทุนในโครงการนี้นับว่าเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เงินของบริษัทต่างชาติ
แต่เป็นเงินของรัฐบาลที่
ได้จากเงินภาษีของประชาชน
ดังนั้นรัฐบาลควรมีเกณฑ์กำหนดในการเลือกแผนการดำเนินโครงการที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการเปิดประมูลงาน
หากตกลงใช้การประมูลวิธีนี้ต่อไป โครงการรถไฟฟ้า 10
สายอาจจะกลายเป็นโครงการที่ถูกตั้งข้อสงสัยในความชอบธรรมและโปร่งใสอย่างมากอีกหนึ่งโครงการ