Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


เงินสร้างรถไฟฟ้า ควรมาจากกองทุนน้ำมันหรือไม่?
Should the mass transit projects be financed by the Oil Fund?

 

5 กรกฎาคม 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                                  


  (ภาพจาก http://www.chaonet.com )

การคาดการณ์พบว่า หลังจากเดือนมีนาคม 2551 กองทุนน้ำมันจะหมดภาระชำระหนี้จากการตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน และหากรัฐบาลยังไม่ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนหลังจากหมดภาระหนี้ดังกล่าวแล้ว จะทำให้มีรายได้เข้ามาในกองทุนถึง 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงทำให้กระทรวงพลังงานเกิดแนวคิดว่า น่าจะนำเงินจากกองทุนนี้มาใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า

หากพิจารณาตัวเลขเงินจากกองทุนน้ำมันนับว่ามีความเป็นไปได้ในการเป็นแหล่งทุนสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้า แม้ว่ากระทรวงการคลังได้ปฏิเสธแนวคิดของกระทรวงพลังงานไปแล้ว แต่คำถามที่น่าขบคิดคือ การใช้เงินกองทุนน้ำมันมาสร้างรถไฟฟ้าเหมาะสมหรือไม่ และควรจะหาเงินจากแหล่งใดมาลงทุน

คำถามที่หนึ่ง : ใช้เงินกองทุนน้ำมันเพื่อสร้างรถไฟฟ้าเหมาะสมหรือไม่?

ผมเชื่อว่าโครงการรถไฟฟ้าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดปัญหาจราจรและปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพราะผู้ใช้รถยนต์จำนวนหนึ่งอาจจะหันมาใช้บริการรถไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม หากนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาสร้างรถไฟฟ้าอาจจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ใช้น้ำมันทุกคน เพราะผู้ใช้น้ำมันที่ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ไม่ได้มีเฉพาะผู้ใช้รถยนต์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ใช้รถยนต์ทั้งประเทศ และผู้ใช้น้ำมันเพื่อประโยชน์ด้านอื่นที่ไม่ใช่กิจกรรมการขนส่ง ซึ่งผู้ใช้น้ำมันกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้รถติดและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯและปริมณฑล

นอกจากนี้ การนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้สร้างรถไฟฟ้าอาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เพราะหน้าที่หลักของกองทุนฯ คือ การสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน ไม่ให้เกิดความผันผวนด้านราคาตามการเปลี่ยนแปลงของกลไกตลาดโลก ด้วยเหตุที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเกือบทั้งหมด กองทุนน้ำมันจึงเป็นตัวดูดซับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาจากภายนอกไม่ให้รุนแรงจนเกิดความไร้เสถียรภาพ มิใช่เพื่อการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชน

          คำถามที่สอง : เงินลงทุนรถไฟฟ้าควรมาจากแหล่งใดได้บ้าง?

ผมเห็นว่า การกำหนดที่มาของแหล่งเงินทุนในการสร้างรถไฟฟ้าอาจใช้หลักการที่ว่า ใครได้ประโยชน์ ผู้นั้นเป็นคนจ่าย เมื่อพิจารณาด้วยหลักการนี้ งบก่อสร้างส่วนหนึ่งควรมาจากงบประมาณแผ่นดิน หรือหมายความว่า ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้จ่ายด้วยส่วนหนึ่ง เพราะการที่ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯมีประสิทธิภาพจะส่งผลทำให้การสูญเสียทางเศรษฐกิจลดลง และทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวขึ้น

งบก่อสร้างอีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากรายได้ในอนาคต จากการเก็บค่าโดยสารและการหารายได้จากทรัพย์สินของโครงการรถไฟฟ้า เช่น ค่าเช่าพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ค่าเช่าพื้นที่เพื่อติดป้ายโฆษณา เป็นต้น เนื่องจากผู้โดยสารได้รับประโยชน์จากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินของโครงการรถไฟฟ้า

สำหรับผู้ใช้รถยนต์ควรเป็นผู้จ่ายสำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อมีรถไฟฟ้า ผู้ใช้รถยนต์จะได้ประโยชน์จากการจราจรที่คล่องตัวมากขึ้น แต่การเก็บเงินจากผู้ใช้รถยนต์ไม่ควรนำเงินมาจากกองทุนน้ำมันโดยตรง แต่อาจเก็บจากค่าธรรมเนียมการขับขี่ยานยนต์เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ค่าธรรมเนียมการต่อทะเบียนรถยนต์ในกรุงเทพฯ หรือเพิ่มภาษีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้นจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของทรัพย์สินและที่ดินในบริเวณที่รถไฟฟ้าตัดผ่าน โดยการเก็บภาษีในส่วนของราคาที่ดินและอาคารที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain tax) เนื่องจากเจ้าของที่ดินใกล้บริเวณที่รถไฟฟ้าตัดผ่านจะได้รับประโยชน์จากมูลที่ดินที่เพิ่มขึ้น

ผมเสนอว่า หากรัฐบาลไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้จากแหล่งอื่นได้เพียงพอ การกู้เงินจากกองทุนน้ำมันนับเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ ในการระดมทุนมาใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพราะถึงอย่างไร กองทุนน้ำมันจะต้องมีเงินสำรองในกองทุนระดับหนึ่งเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และผู้บริหารกองทุนน้ำมันจะต้องบริหารจัดการกับเงินในกองทุนให้เกิดผลตอบแทนอยู่แล้ว

การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแนวคิดของกระทรวงพลังงาน แม้ว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการขับขี่ยวดยานไม่ควรเป็นผู้จ่ายสำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้า และไม่ได้หมายความว่า เงินกองทุนน้ำมันจะไม่สามารถเป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าได้เลย  


   

-------------------------------