เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
![](../../../enews/letter/image/070622.jpg)
(ภาพจาก http://www.sfgate.com)
ขณะที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่นั้น ผมมีข้อเสนอหนึ่งที่อยากให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำควบคู่กับไปด้วยคือ การจัดทำ “หนังสือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวด แต่ละมาตรา”
เหตุใดถึงควรจัดทำหนังสือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ที่ผ่านมา การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถูกตั้งข้อสงสัยถึงเจตนารมณ์ในบางหมวดบางมาตรา และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความและวินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนหลายร้อยคดีในรอบ 9 ปีเศษ โดยบางเรื่องก็เป็นประเด็นทางการเมืองของนักการเมือง แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องของการไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือตัวบทกฎหมายที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับภาระอย่างมากมาย และทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในกรณีที่ทำให้สถาบันทางการเมืองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ (ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับคุณหญิงจารุวรรณ เมฑกา ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่)
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรจัดทำ ”หนังสือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ควบคู่ไปกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหนังสือดังกล่าวจะอธิบายถึงที่มาของมาตรา เหตุผลและความจำเป็นในมาตราดังกล่าว เสมือนตำราคู่มือในการศึกษารัฐธรรมนูญให้กับประชาชน เรียนรู้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา ที่มาของมาตราต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันแก่ผู้นำไปปฏิบัติใช้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ไม่เกิดการใช้หรือตีความรัฐธรรมนูญตามใจปรารถนาของตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปในการทำความเข้าใจเจตนารมณ์ในแต่ละเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันในมุมมองที่มีต่อรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จึงอยากฝากข้อเสนอนี้ไว้ให้กับคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อดำเนินการจัดทำหนังสือเล่มนี้ไปพร้อม ๆ กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
|