Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


นโยบายความปลอดภัยแห่งชาติ
National Security Policy

 

6 พฤษภาคม 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

            แม้สงกรานต์ปีนี้จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ภาครัฐยังคงต้องหาแนวทางและมาตรการลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด เนื่องจาก ปัญหาความไม่ปลอดภัยยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นอกเหนือจากอุบัติเหตุจากรถยนต์สาธารณะ หรือภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้วยังมีภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม, น้ำป่า, แผ่นดินไหว เป็นต้น แต่ว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังคงขาดความต่อเนื่อง แก้เฉพาะจุดที่เกิดปัญหา ขาดการดูภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งขาดระบบป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น แม้จะต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่นับว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้น เช่น ที่ผ่านมา อุบัติเหตุจากรถโดยสารขนาดใหญ่

 มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 7-8 พันล้านบาทต่อปี และความเสียหายจากอุบัติเหตุทั้งหมดคิดเป็น 1.7 แสนล้านบาทต่อปี เหตุการณ์ระเบิด 8 จุด ในกรุงเทพมหานครช่วงท้ายปี ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงกว่า 2.9 แสนล้านบาท เป็นต้น ดังนั้นผมจึงเสนอว่า ภาครัฐควรดำเนินนโยบายความปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

สร้างความปลอดภัยทุกรูปแบบ

ให้ครอบคลุมภัยอันตายทุกรูปแบบ ทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ และครอบคลุมตั้งแต่ความปลอดภัยในครัวเรือน ในโรงเรียน ในการเดินทาง ในการทำงาน ในการพักผ่อนหย่อนใจและท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ทุกกิจกรรม ทุกเวลา และทุกสถานที่ อีกทั้งควรศึกษาและวางแผนให้ครอบคลุมภัยหรือเหตุร้ายที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน แต่อาจเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น เช่น โรคระบาดบางชนิด ระเบิดพลีชีพ หรือแม้แต่การสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งเพียงแค่การศึกษาและวางแผนเพื่อเตรียมการรองรับล่วงหน้าให้ครอบคลุมเหตุการณ์เหล่านี้นั้น สามารถทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดต้นทุนแก่ประเทศมากเกินไปนัก แต่จะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาวมากกว่า

สร้างความปลอดภัยตลอดทั้งกระบวนการ

เพื่อให้ทราบผู้ที่ต้องรับผิดชอบชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การป้องกันปัญหาความไม่ปลอดภัย การสร้างหลักประกันความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัย การจัดระบบแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด การตรวจสอบหรือสอบสวนสาเหตุและที่มาของความไม่ปลอดภัย การลงโทษและจัดเก็บต้นทุนจากผู้ที่สร้างความไม่ปลอดภัย การชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย การฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติ และการประเมินผลและปรับปรุงประบวนการสร้างความปลอดภัยแห่งชาติ เป็นต้น

 สร้างความปลอดภัยแบบครบวงจร

โดยการดำเนินการทั้งด้านคน ระบบ และบริบท เช่น การป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ในด้านคน ควรกำหนดมาตรฐานคนขับยวดยานพาหนะ สร้างวินัยการจราจร และสร้างค่านิยมการขับขี่อย่างปลอดภัย ด้านระบบ ควรกำหนดมาตรฐานรถยนต์ โดยกำหนดอายุการใช้งานของรถ และมีการตรวจสภาพรถยนต์ เครื่องยนต์ รวมทั้งทางขึ้นลง ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยอยู่เสมอ ส่วนด้านบริบท ควรพัฒนามาตรฐานถนน และมีการบำรุงรักษาถนนให้อยู่ในสภาพที่ดีในทุกเส้นทาง เป็นต้น ซึ่งการทำอย่างครบวงจรจะทำให้เกิดความประหยัดจากขนาด เพราะ การประสานกันทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้

             รัฐควรเอาใจใส่ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบที่พึงกระทำแก่ประชาชน ดังนั้นการมีนโยบายความปลอดภัยแห่งชาติ จึงเป็นการแสดงความเอาใจใส่ ที่เป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่า เราจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้อย่างไม่ต้องวิตกกังวล

  

-------------------------------