Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


แอดมิชชันใหม่ อย่ามองเพียงผลการเรียน
New Admission Should not be Considered Only on Scores

 

4 พฤษภาคม 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

               จากการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการรับนิสิตนักศึกษาในระบบกลางหรือแอดมิชชันประจำปีการศึกษา 2553 โดยยกเลิกการใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาขั้นสูง หรือ ANET และผลการเรียนเฉลี่ยรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือ GPA และหันมาใช้องค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GPAX  คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  หรือ ONET และผลการทดสอบวัดความถนัด (Aptitude Test) โดยให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ครั้งนี้ว่า เกณฑ์การคิดคะแนนแบบเดิมมีความซ้ำซ้อน อยากให้ผู้เรียนสนใจการเรียนในวิชาอื่น ไม่อยากให้เด็กเรียนกวดวิชา และสอดคล้องกับการวัดผลของโรงเรียน

               อย่างไรก็ตามเกณฑ์ที่จะประกาศใช้ในปีการศึกษา 2553 นั้นยังต้องมีการหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากยังมีผู้ไม่เห็นด้วยอีกมาก โดยในเรื่องดังกล่าวผมยังคงค่อนข้างเป็นห่วงอยู่ในหลายประเด็น ดังนี้

               การยกเลิก GPA = ยกเลิกการวัดความสามารถในรายวิชา เพราะองค์ประกอบ GPA มีนัยสำคัญที่ช่วยสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนในบางวิชา ซึ่งทำให้ผู้เรียนแต่ละคนรู้ว่าควรเลือกเรียนคณะอะไร การยกเลิก GPA จึงอาจมีผลทำให้ผู้เรียนละเลยที่จะประเมินความสามารถของตนเอง อีกทั้งเกณฑ์ใหม่นี้ ไม่ได้แก้ปัญหาเกรดเฟ้อ เนื่องจาก GPA เป็นส่วนหนึ่งของ GPAX จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการปล่อยเกรดเฟ้อที่ GPA และส่งผลมาสู่ GPAX ได้เช่นเดียวกัน

               การให้ความสำคัญกับผลการเรียนในห้องมากเกินไป เห็นได้จากเหตุผลการของการยกเลิก GPA และหันมาใช้ GPAX เพื่อต้องการให้ผู้เรียนเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น และองค์ประกอบอื่นกลับไม่ได้สนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพด้านอื่น นอกจากความสามารถด้านวิชาการ ผมเห็นว่า หาก ทปอ. ยังคงใช้องค์ประกอบในลักษณะนี้อยู่ ปัญหาจะวนกลับมาที่เดิม คือ เด็กไม่รู้จักตัวเอง ไม่พัฒนาทักษะความสามารถด้านอื่น แต่จะมุ่งทำเกรดให้สูงที่สุด และมีแนวโน้มที่โรงเรียนบางแห่งจะปล่อยเกรดเฟ้อมากขึ้น

               การกำหนดองค์ประกอบของการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชัน  ควรเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนกระตุ้นให้โรงเรียนพัฒนาผู้เรียน โดยองค์ประกอบที่ผมคิดว่าควรเพิ่มเติม คือ         

               การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน การคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อควรพิจารณาด้วยว่า ในระหว่างที่เรียนนั้น ผู้เรียนได้ร่วมทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง  ซึ่งผู้เรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อ จะต้องแสดงหลักฐานที่บ่งบอกถึงกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมอย่างชัดเจน และมหาวิทยาลัยอาจตรวจสอบกลับไปยังโรงเรียนได้ หากต้องการยืนยันว่าผู้เรียนทำกิจกรรมดังกล่าวจริงหรือไม่

               การแสดงความตั้งใจในการศึกษาต่อ ควรพิจารณาผู้เรียนที่มีความตั้งใจจริงในการศึกษาต่อในสาขานั้น ๆ อาจดำเนินการได้โดยให้แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดคำถามบางประการไว้ในใบสมัคร หรือในช่วงสอบสัมภาษณ์ ตามที่มหาวิทยาลัยเห็นว่ามีความเหมาะสมในการคัดเลือกนักศึกษา

               คุณลักษณะด้านคุณธรรมจริยธรรม ควรมีการพิจารณาประเด็นคุณธรรมจริยธรรมของผู้ที่ต้องการศึกษาต่อร่วมด้วย เช่น  การนำเอาข้อมูลจากสมุดพกความดีเข้ามาประกอบการพิจารณา โดยสร้างตัวชี้วัดด้านคุณธรรมให้ออกมาเป็นคะแนน และกำหนดความเหมาะสมของการให้น้ำหนักคุณธรรมจริยธรรม เพื่อกำหนดสัดส่วนระหว่างคะแนนของความดีกับความรู้ให้เหมาะสม

               ผมเห็นด้วยกับการคัดเลือกนักศึกษาในระดับแอดมิชชัน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมหาวิทยาลัยสามารถคัดเลือกนักศึกษาได้ตรงตามความสามารถจริงของผู้เรียนมากที่สุด แต่ยังเป็นห่วงในส่วนขององค์ประกอบใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเดิม นั่นคือโรงเรียนปล่อยเกรดเฟ้อ ผู้เรียนมุ่งเรียนเพื่อทำเกรดจนลืมพัฒนาทักษะความสามารถและคุณธรรมจริยธรรม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอดังข้างต้นนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยในการปรับปรับปรุงระบบแอดมิชชันให้ดีมากขึ้น

  

-------------------------------