Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


มองสงครามแย่งมวลชน
3 จังหวัดชายแดนใต้แบบเศรษฐศาสตร์

Economic Viewpoint  of the Life-Taking War in Thailand’s South

 

8 เมษายน 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

               การแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้ของรัฐบาล ดูเหมือนจะไม่สามารถยุติความรุนแรงลงได้ในเวลาอันใกล้ ฝ่ายคนร้ายที่ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหนักหน่วง รุนแรง ต่อเนื่อง  และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะลุกลามไปยังจังหวัดใกล้เคียง เพื่อผลักดันให้ประชาชนที่ทนไม่ได้กับสถานการณ์ที่รุนแรงจำเป็นต้องออกจากพื้นที่ หรือทำให้ประชาชนที่ต้องการอยู่ในพื้นที่ต่อไปกลายเป็นพวกเดียวกับฝ่ายคนร้ายไม่ว่าจะโดยสมัครใจ หรือโดยความกลัวก็ตาม

ในขณะที่ฝ่ายรัฐที่ยึดแนวสมานฉันท์ กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ และคอยแก้สถานการณ์ตามเกมส์ของคนร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่สามารถปกป้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างที่ตั้งใจ

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คือ จะทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นฝ่ายเดียวกับคนร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ จะยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐทำงานได้ยากลำบากขึ้น เพราะอำนาจรัฐจะถูกขนาบและลดทอนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เหตุใดสถานการณ์จึงเป็นเช่นนี้ และรัฐจะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

การวิเคราะห์สถานการณ์ในภาคใต้ในเวลานี้จะใช้ทฤษฎีเกม (game theory) โดยกำหนดให้มีผู้เล่น 2 ฝ่ายคือ รัฐบาลและโจรก่อการร้าย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน คือการแย่งชิงฐานมวลชนให้มาอยู่ฝ่ายตน และแต่ละฝ่ายมีทางเลือกกลยุทธ์ในการต่อสู้กัน 2 ทางเลือก คือ การสมานฉันท์ และการใช้ความรุนแรง การเลือกใช้กลยุทธ์แบบใดขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายหนึ่งใช้กลยุทธ์อะไร และมวลชนมีพฤติกรรมตอบสนองต่อกลยุทธ์ต่าง ๆ อย่างไร

 ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการตอบสนองของประชาชน โดยใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐประสาทวิทยา (Neuroeconomics) ที่เน้นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกของบุคคล โดยเฉพาะการศึกษากระบวนการรับรู้ (cognition) ที่เกิดขึ้นเมื่อคนเข้าใจทางเลือกและเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง ซึ่งพบแนวโน้มที่ยืนยันว่า อารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกทางเศรษฐศาสตร์ และพบว่า การสูญเสียมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ มากกว่า ผลตอบแทนเชิงบวก

เมื่อนำเศรษฐศาสตร์สาขาประสาทวิทยามาวิเคราะห์การตัดสินใจของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะเลือกอยู่ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายคนร้าย ประชาชนแต่ละคนจะเลือกโดยการเปรียบเทียบผลประโยชน์ (benefit) ที่คาดว่าจะได้รับ เปรียบเทียบกับต้นทุน (cost) ที่คาดว่าจะต้องจ่าย

หากรัฐบาลใช้กลยุทธ์สมานฉันท์และผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรง ประชาชนมีแนวโน้มจะไม่เลือกอยู่ฝ่ายรัฐ

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามสร้างผลประโยชน์ (benefit) ทดแทนให้กับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ การคุ้มครองจากรัฐ การให้สวัสดิการ การให้เงินช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ฯลฯ แต่การเพิ่มผลประโยชน์ใด ๆ  ยากที่จะทดแทน หรือเทียบกับต้นทุน (cost) ที่เขาจะต้องจ่ายซึ่งสูงมาก คือ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะคนร้ายอาจจะจัดการเขาเมื่อทราบว่าเป็นฝ่ายรัฐ แม้ความน่าจะเป็นที่จะถูกทำร้ายหรือฆ่าอาจจะต่ำ แต่ผลกระทบที่อาจจะเกิดมีความรุนแรงมาก

ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนเลือกอยู่ฝ่ายคนร้าย แม้เขาจะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากคนร้าย ในขณะเดียวกันต้นทุนที่เขาจะต้องเสียต่ำ หรือแทบจะไม่มี เพราะการที่เขาเลือกอยู่ข้างเดียวกับคนร้าย หรือร่วมก่อเหตุกับคนร้าย อำนาจรัฐเองยังไม่แสดงว่าสามารถเข้าไปจัดการ หรือสร้างให้เกิดต้นทุนที่เขาต้องสูญเสียได้มากพอ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจะเลือกใช้กลยทุธ์การสร้างความรุนแรง การสร้างความกลัว เพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับคนที่เลือกอยู่ฝ่ายรัฐ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐไม่สามารถเพิ่มต้นทุนในการอยู่ฝ่ายคนร้าย โดยใช้กลยุทธ์ความรุนแรง แม้อาจจะเป็นวิธีแย่งชิงมวลชนได้ตามทฤษฎีเกม แต่รัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมายสร้างความกลัวให้กับประชาชน แต่เพื่อสร้างสวัสดิภาพให้กับประชาชน

ฉะนั้นสิ่งที่รัฐควรดำเนินการ คือ ลดต้นทุน (cost) ของการอยู่ฝ่ายรัฐ และเพิ่มต้นทุน (cost) ให้กับคนที่เลือกอยู่ฝั่งโจรให้มากขึ้น อาทิ การเพิ่มการรักษาความปลอดภัย การลดโอกาสและศักยภาพในการก่อการร้าย การจัดการกับคนร้ายที่จับได้ด้วยมาตรการที่เด็ดขาดตามกระบวนการยุติธรรม ผ่านการมีข่าวระบบข่าวกรองที่ถูกตรงและเชื่อถือได้ และการใช้เทคโนโลยีในการสอบสวนและหาหลักฐานเอาผิด

การมีระบบข่าวกรองที่มีคุณภาพเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากในการจัดการกับคนร้าย เพราะสังคมจะไม่ตั้งคำถามว่าเป็นการจับผิดคนหรือจับแพะหรือไม่ ทั้งนี้ต้องยอมรับกันว่า ที่ผ่านมารัฐไม่สามารถจับผู้ร้ายที่ก่อเหตุได้ หรือหากจับผู้ต้องสงสัยได้ แต่จะไม่สามารถดำเนินคดีได้ด้วยความน่าเชื่อถือ เพราะฝ่ายรัฐขาดข้อมูลและหลักฐานในการยืนยันที่ชัดเจนว่า ผู้ที่จับได้คือผู้กระทำผิดจริงหรือไม่

รวมถึงการดำเนินการกับผู้กระทำผิด ควรมีความรวดเร็ว ไม่ควรใช้กระบวนการยุติธรรมร่วมกับคดีปกติ แต่ควรมีกระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษสำหรับภาคใต้ ที่มีความรวดเร็ว เป็นธรรม และโปร่งใสในการดำเนินการ

เพื่อให้สงครามแย่งชิงมวลชนระหว่างรัฐกับผู้ร้าย เป็นสงครามที่สมศักดิ์ศรียิ่งขึ้น

 

-------------------------------