Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


ลบ
“ข้อจำกัด” เพื่อสิทธิประชาชน
Eliminate Limits to the People’s Rights

 

7 เมษายน 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

               การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาถือว่าเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติในเรื่องสิทธิของประชาชน แต่บทบัญญัติในหลายมาตรากลับไม่สามารถบังคับได้จริง

ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 52  บุคคลมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่ในความเป็นจริงคนได้รับบริการไม่ทั่วถึง ราคาไม่เท่ากัน ยาคนละระดับราคากัน หรือ สิทธิในมาตรา 56 เป็นสิทธิที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง แม้จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ หรือประชาพิจารณ์ แต่กลับมีผลเพียงเสนอแนะต่อรัฐบาลเท่านั้นไม่มีผลใด ๆ ต่อการตัดสินใจในการทำโครงการต่าง ๆ หรือในมาตรา 60 เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ   เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารับรองสิทธิเหล่านั้น

ข้อจำกัดสำคัญ อยู่ที่ข้อความที่ระบุท้ายมาตราว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งสร้างข้อจำกัดในการบังคับใช้

การไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับบทบัญญัติ ส่งผลต่อการตีความของศาลเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตราต่าง ๆ ที่ลงท้ายด้วยประโยคข้างต้น เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายย่อมไม่มีผลในการจะบังคับใช้สิทธิที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

ผมขอเสนอว่า ควรมีการแก้ไขบางข้อความที่ระบุในรัฐธรรมนูญ เพื่อลดข้อจำกัดของกฎหมาย และก่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ดังนี้

ไม่ระบุข้อความ “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

การตัดข้อความนี้ออกไป มิได้ก่อให้เกิดผลเสียอันใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แม้มิได้มีการออกกฎหมายลูกออกมารับรอง สิทธินั้นก็สามารถบังคับใช้ได้ทันที และรัฐธรรมนูญย่อมบัญญัติไว้เพียงหลักการกว้าง ๆ หากต้องการลงในรายละเอียดจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายลูกมาอีกฉบับหนึ่งอยู่แล้ว  ดังนั้น การตัดข้อความดังกล่าวนี้ออกไปจึงน่าจะเป็นการยุติปัญหาการตีความของศาล เพราะศาลสามารถตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้มันที ไม่ต้องรอกฎหมายลูก

ระบุเวลาการออกกฎหมายลูกให้ชัดเจน 

สำหรับบทบัญญัติบางประการที่รัฐธรรมนูญมีเจตนาให้ออกกฎหมายลูก ผมเห็นว่า ควรจะมีกำหนดเงื่อนเวลาในการที่จะออกกฎหมายลูกอย่างชัดเจน เช่น จะต้องมีกฎหมายลูกออกมารองรับเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนภายใน 1 ปี หรือ ภายใน 2 ปี เป็นต้น เพื่อเป็นหลักประกันในการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเพิ่มสิทธิในการได้รับการคุ้มครองอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ทั้งนี้  มีข้อควรระวังอีกประการหนึ่ง คือ การเขียนนิยาม/คำจำกัดความของสิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง จะต้องมีความชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตีความ เช่น ที่ผ่านมา ในมาตรา 46 ที่ระบุว่า “สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ที่ระบุไว้เกี่ยวกับเรื่อง สิทธิชุมชนหรือป่าชุมชนนั้น ความหมายยังคลุมเครือ เช่นเดียวกับข้อความอื่น ๆ เช่น สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภค ไม่ได้กำหนดว่าต้องได้รับความคุ้มครองในด้านใดบ้าง หรือในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนตาม รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 60 ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้ง ไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธินี้บังคับได้จริง เป็นต้น

            สุดท้ายนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี  2550 ฉบับนี้ จะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงหรือจะเป็นเพียงรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่มีลายลักษณ์อักษรที่สวยหรูนั้น ขึ้นอยู่กับคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนและมีผลในการบังคับใช้ในเชิงปฏิบัติได้อย่างแท้จริงหรือจะเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดูดีเพียงภายนอกเท่านั้น

 

-------------------------------