Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


กรุงเทพเมืองแฟชั่น
: ฝันที่ไม่มีวันไปถึงดวงดาว
Bangkok City of Fashion: The fallacious dream

 
 

29 มีนาคม 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

                นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2551 ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า จะไม่ดำเนินการโครงการ กรุงเทพฯเมืองแฟชั่น ต่อไป เนื่องจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่คุ้มกับงบประมาณที่จ่ายไป แม้ว่าทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยังไม่ส่งผลการประเมินโครงการนี้มาให้รัฐบาล ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายก่อนตัดสินใจว่าจะยกเลิกโครงการนี้หรือไม่

รัฐบาลทักษิณตั้งใจจะผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้นำของโลกในตลาดเฉพาะ (World Leader in Niche Markets) 5 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศไม่นาน ได้ยุติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ไปแล้ว 2 สาขา คือ โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และ โครงการดีทรอยต์แห่งเอเชีย โครงการหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์

การตัดสินใจของกระทรวงอุตสาหกรรมครั้งนี้ สอดคล้องกับผลการวิจัยของผม เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย โดยผลการวิจัยระบุว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่เหมาะจะเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่อิ่มตัวและไม่น่าลงทุน

            เมื่อวิเคราะห์สถานะของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลก พบว่า การค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สัดส่วนมูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมนี้ลดลงเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลก ซึ่งแสดงว่าอุตสาหกรรมสาขานี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงทั่วโลก

            หากพิจารณาสถานะของอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นรายประเทศ ฮ่องกงเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ขณะที่อิตาลีมีอัตราขยายตัวของส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับหนึ่ง และเมื่อวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยใช้ดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏ หรือ Revealed Comparative Advantage (RCA) พบว่า จีนมีค่าดัชนีดังกล่าวสูงสุด            ส่วนประเทศไทยมีค่า RCA ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ (มากกว่า 1) และมีการขยายตัวของส่วนแบ่งการตลาด แต่ส่วนแบ่งการตลาดยังมีสัดส่วนน้อยมาก

            เมื่อพิจารณาสถานะของอุตสาหกรรมในระดับโลกและรายประเทศ พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีน อิตาลี ไทย และเม็กซิโก จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมดาวตก แม้ว่ายังคงมีความสามารถในการแข่งขันและยังมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ขณะที่อุตสาหกรรมดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกลดลง จึงจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องปรับโครงสร้าง

ผมจึงเห็นด้วยที่รัฐบาลจะไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ต่อไป แม้ว่าสินค้าแฟชั่นจะมีมูลค่าการส่งออกสูงและยังมีความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการส่งออกยังทำให้สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ในระดับโลกไม่สดใสนัก และมีคู่แข่งขันที่น่ากลัวคือจีนที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าแรงงานไทยมาก การลงทุนของภาครัฐและเอกชนจำนวนมากเพื่อส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันในเวทีโลก จึงอาจไม่คุ้มค่าในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลควรละทิ้งอุตสาหกรรมนี้เสีย เพราะถึงอย่างไรอุตสาหกรรมนี้ยังมีมูลค่าการส่งออกสูงมาก และมีการจ้างงานจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรใช้งบประมาณและนโยบายในระดับที่เหมะสม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ไว้ และส่งเสริมให้ยังคงเป็นสินค้าส่งออกได้ในระยะสั้น-กลาง

ในขณะเดียวกัน ผมเห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว โดยมีเป้าหมาย 2 ประการคือ การย้ายผู้ประกอบการและแรงงานออกจากอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการยกระดับภาคการผลิตบางส่วนขึ้นไปแข่งขันในตลาดระดับบน ไปสู่การผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าด้วยการสร้างแบรนด์ (Original Brand Manufacture: OBM) เพราะประเทศไทยยังมีแรงงานส่วนหนึ่งที่มีฝีมือ และมีกิจการบางส่วนที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง

ถึงกระนั้น การยกระดับภาคการผลิตไปสู่การสร้างแบรนด์ของตนเอง อาจไม่ใช่การดำเนินการในระดับใหญ่ หรือพยายามยกระดับอุตสาหกรรมทั้งระบบเหมือนที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกในแบรนด์ของตนเองนั้น อาจมีจำนวนไม่มากนัก การส่งเสริมจึงควรกระทำโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง และควรใช้งบประมาณและทรัพยากรของภาครัฐเพื่อการสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการโดยตรง มิใช่เพื่อสร้างภาพลักษณ์เหมือนรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

การตัดสินใจกำหนดนโยบายของภาครัฐในอนาคต ควรยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและมีงานวิจัยรองรับ โดยพิจารณาทั้งศักยภาพในประเทศและแนวโน้มในระดับโลก เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายไม่ได้อิงอยู่บนพื้นฐานเพียงความรู้สึกพึงพอใจของประชาชน และการหวังผลความนิยมทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบาย โดยไม่ได้มองผลที่ปลายทางในระยะยาว

 

-------------------------------