เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
ประเด็นสำคัญและถูกจับตามองมากที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ
๒๕๕๐
คงหนีไม่พ้นประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว
เพราะมีความหวั่นเกรงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจทางการเมือง
ทั้งของฝ่ายทหารที่ทำการรัฐประหารและขั้วอำนาจเก่า
ผ่านการเปิดช่องให้นายกมาจากคนนอกได้
หรือการไม่ระบุที่มาของนายกฯ
ไว้เลย
การที่เปิดช่องให้นายกฯ
มาจากคนนอกได้
แม้ว่าจะมีเหตุผลในแง่การแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดทางตันทางการเมือง
และเป็นการเปิดโอกาสให้คนดีและคนเก่งที่ไม่ใช่นักการเมืองเข้ามาเป็นนายกฯ
ได้
แต่หากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์
การเปิดโอกาสให้นายกฯ
มาจากคนนอกได้อาจทำให้ปัญหาตัวแทนหรือ
Principle-Agent
Problem
มากยิ่งขึ้นอีก
ปัญหาตัวแทนเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร
ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเจ้าของบริษัท
(principle)
ที่จ้างผู้จัดการ
(agent)
เข้ามาบริหารบริษัท
ด้วยเหตุที่เจ้าของบริษัทไม่สามารถทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารงานของผู้จัดการได้
ทำให้การบริหารจัดการบริษัทของผู้จัดการอาจจะไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัท
แต่อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้จัดการเสียเอง
ที่ผ่านมา
การเมืองไทยประสบปัญหาตัวแทนเช่นเดียวกัน
เนื่องจากประชาชนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล
ทำให้ ส.ส.และรัฐบาลในฐานะตัวแทน
(agent)
ไม่ทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ
การที่นายกฯ
ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่กลับให้
ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนทำหน้าที่เลือกนายกฯ
จากใครก็ได้
อาจไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
เพราะก่อนเลือกตั้งประชาชนไม่ทราบข้อมูลเลยว่า
ตัวแทนของเขาจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ
เท่ากับว่าตัวแทนสามารถใช้อำนาจอย่างอิสระ
ไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้
นายกฯ
ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมมีแรงจูงใจในการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
น้อยกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง
เพราะนายกฯ
ที่มาจากการเลือกตั้งต้องพยายามที่จะบริหารประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด
เพราะมีแรงจูงใจว่า
จะต้องนำพรรคของตนกลับมาบริหารประเทศอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกที่ทำให้นายกฯมีความรับผิดชอบต่อประชาชนได้มากกว่า
ในขณะที่หากกำหนดให้นายกฯ
ต้องมาจาก
ส.ส.
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม
กล่าวคือ
ประชาชนเลือกตัวแทนของตน
ไปเป็นผู้ออกเสียงเลือกนายกฯ
แต่ประชาชนพอที่จะทราบโดยนัยว่าตัวแทนของเขาจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ
ได้บ้าง
เพราะโดยปกติ
หัวหน้าพรรคที่มี
ส.ส.มากที่สุด
หรือสามารถครองเสียงข้างมากในสภาฯ
จะมีโอกาสเป็นนายกฯ
ที่มาของนายกฯ
ในลักษณะนี้จะสะท้อนความต้องการของประชาชนมากกว่า
การเปิดโอกาสให้นายกฯ
มาจากคนนอก
ยิ่งไปไปกว่านั้น
หากกำหนดให้นายกฯ
ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
วิธีการนี้จะแก้ปัญหาตัวแทนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น
เพราะประชาชนจะทราบข้อมูลอย่างชัดเจนว่าใครที่มีโอกาสเป็นนายกฯ
ได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม
ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว
เนื่องจากคนส่วนหนึ่งมองว่าการเลือกนายกฯ
โดยตรง
เป็นวิถีการปกครองแบบประธานาธิบดี
ไม่ใช่การปกครองแบบรัฐสภา
ปัญหาเรื่องการถอดถอนจากอำนาจ
เพราะที่มาของนายกฯ
มาจากประชาชน
ฉะนั้นประชาชนจึงเป็นผู้ถอดถอนนายกฯ
ออกจากอำนาจ
ซึ่งกระทำได้ยากในทางปฏิบัติ
สิ่งที่ผมอยากฝากกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(ส.ส.ร.)
ต่อประเด็นที่มาของนายกฯ
คือ ส.ส.ร.
ควรมีโจทย์ที่ชัดเจนว่า
หลักการเรื่องที่มาของนายกฯ
ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานใด
หากนายกฯ
ควรสะท้อนการเป็นตัวแทนของประชาชน
แนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญควรตอบโจทย์ข้อนี้เป็นสำคัญ
ส่วนปัญหาอื่น
ๆ ที่ ส.ส.ร.กังวลใจ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางตันทางการเมืองและการเปิดโอกาสให้คนดีเข้ามาบริหารประเทศ
อาจกำหนดกลไกอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแทน
อาทิ
การกำหนดให้มีองค์คณะที่มาจากสถาบันที่ประชาชนเชื่อถือและได้รับความชอบธรรมจากประชาชน
ทำหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราวในยามวิกฤต
การสร้างกลไกที่ทำให้การลงสมัครเลือกตั้งไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง
การกำหนดเพดานเงินบริจาคแก่พรรคการเมืองและนักการเมือง
เพื่อมิให้นายทุนครอบงำพรรคการเมืองได้
การสร้างกลไกการตรวจสอบและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ฯลฯ
การร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง
แล้วล้มหลักการที่ควรจะเป็นลง
*
นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันพุธที่
21
มีนาคม
2550
|