Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


ตั้งองค์กรอิสระ หลักประกัน รธน. หลังประกาศใช้
Establish Independent Organizations to Guantee the Constitution
 

9 มีนาคม 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

             ประเด็นทางการเมืองที่อยู่ในใจของใครหลาย ๆ คนคงหนี้ไม่พ้น คือ เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ?”  แต่อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญกว่า คือ

"เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ถูก 'ฉีกทิ้ง'   ภายหลังจากประกาศใช้แล้ว?"

การรักษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจากนำมาบังคับใช้ ไม่ให้ถูกล้มล้างด้วยวิธีรัฐประหาร หรือวิธีอื่น ๆ นอกระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญควรจะพิจารณาเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

จากการที่ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ทั้งหมด 17 ฉบับ แต่มีถึง 5 ฉบับ ด้วยกันที่ถูกล้มล้างโดยการรัฐประหาร  โดยสาเหตุหนึ่งของการล้มล้างมาจากปัญหาที่เกิดหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จนกลายเป็นมูลเหตุของความไม่พอใจในรัฐธรรมนูญนำไปสู่การล้มรัฐธรรมนูญในที่สุด

หากวิเคราะห์การร่างรัฐธรรมนูญจากประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศที่เป็นต้นแบบอย่างสหรัฐอเมริกาที่ใช้รัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวมานานว่า 200 ปี ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุสาระสำคัญไว้เพียงจำนวนไม่กี่มาตรา เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญตระหนักดีว่า รัฐธรรมนูญนั้นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในขณะนั้น

ดังนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ควรคำนึงถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และควรหาทางป้องกันปัญหาก่อนที่จะบานปลายไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีรัฐประหาร

เหตุนี้ผมข้อเสนอแนวทางเพื่อป้องกันปัญหา โดยควรจัดตั้งหน่วยงานหนึ่งอาจใช้ชื่อว่า หน่วยงานติดตามการใช้รัฐธรรมนูญ หน่วยงานนี้จะมีหน้าที่ศึกษาและรายงานสภาพปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ โดยทำหน้าที่เป็นเหมือน "ศูนย์วิจัยประเด็นปัญหารัฐธรรมนูญ" ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่   เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา กรอบเวลาในการศึกษา อาจกำหนดเวลาทุก 1-2 ปี โดยการศึกษานี้จะต้องมีเอกสารงานวิจัยอ้างอิง เพื่อบ่งชี้ว่า การบังคับกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรานั้น ๆ เกิดปัญหาขึ้น สมควรได้รับการแก้ไข

ข้อดีของการมีองค์กรนี้ จะช่วยให้ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่สามารถมีผู้ทำการตรวจสอบ วิจัยปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น  และเสนอแก้ไขเฉพาะประเด็นนั้น ทำให้รัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้ได้อย่างต่อเนื่อง

ลักษณะหน่วยงานนี้ ควรเป็นองค์กรอิสระถาวร เพื่อเจ้าหน้าที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสถาบันวิจัยทั่วไป มีรูปแบบเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่น ๆ ที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 2540 ภายหลังจากที่คณะทำงานนี้ดำเนินการในกระบวนการศึกษาปัญหาที่เกิดและพิจารณาข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเสนอสิ่งที่ศึกษาต่อคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยตำแหน่ง

ที่มาของคณะกรรมการอาจมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระอื่น ๆ นักวิชาการและตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการ คือ พิจารณาข้อเสนอที่ได้รับมาจากหน่วยงานอิสระนั้น เพื่อดูความเหมาะสมและพิจารณาความเป็นไปได้ของข้อเสนอเหล่านั้น

ในขั้นตอนสุดท้ายภายหลังจากที่คณะกรรมการเห็นว่าควรแก้ไขตามข้อเสนอ คณะกรรมการจะดำเนินการส่งเรื่องต่อไปที่รัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาลงความเห็นว่า เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่เปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชนได้ตรวจสอบข้อเสนอที่คณะกรรมการส่งเรื่องมาให้พิจารณาอีกครั้ง และหากรัฐสภาเห็นชอบตามข้อเสนอ ให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป

ผมตระหนักว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ การเรียนรู้ถึงรากของปัญหาและพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดในบริบทของสังคมในขณะนั้น โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขข้อบกพร่อง มิใช่การแก้ปัญหาแบบล้มกระดานอย่างที่เคยเป็นมา

 


-------------------------------