Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ความจริงอีกด้านของการใช้บาร์เทอร์เทรด
One more fact to consider in Barter Trade

 

19 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เปิดทำเนียบรัฐบาลเพื่อประชุมการสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมีเอกอัครราชทูตและตัวแทนกว่า 70 ประเทศเข้าร่วม หัวใจสำคัญของการจัดงานนี้คือการสร้างความร่วมมือลักษณะความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อพิจารณาเลือกบริษัทที่มีข้อเสนอที่ทีดีที่สุดมาร่วมลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เพื่อทำให้ประเทศทันสมัย โดยจะพิจารณาทั้งเชิงเทคโนโลยี มูลค่าการลงทุนของโครงการควบคู่กับเงื่อนไขทางการเงิน และข้อเสนอทางการเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรของไทย (บาร์เทอร์เทรด)

แนวทางดำเนินการของรัฐบาลครั้งนี้ หลายฝ่ายอาจเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี และรัฐบาลอ้างว่า วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นจะลดภาระงบประมาณและการขาดดุลการค้า เพราะแทนที่ประเทศไทยจะมีแต่การนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศฝ่ายเดียว แต่วิธีการนี้จะทำให้ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น ข้ออ้างของรัฐบาลในการดำเนินการเรื่องนี้จึงเป็นการพูดความจริงเพียงด้านเดียว

ความจริงอีกด้านที่รัฐบาลไม่เคยบอก

ระบบบาร์เทอร์เทรดอาจไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชน การใช้เงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตรนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้แลกเปลี่ยนระหว่างรัฐกับรัฐ เนื่องจากเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้เป็นตัวเงินกลับคืนสู่อีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นกรณีที่รัฐบาลไทยประกาศว่า จะให้ความสำคัญกับข้อเสนอทางการเงินแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าของบริษัทเอกชนที่จะมาลงทุนนั้น จึงไม่อาจเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า จะมีบริษัทเอกชนเลือกวิธีการชำระเงินด้วยวิธีการนี้ เนื่องจากไม่เพียงบริษัทเอกชนจะไม่สามารถนำสินค้าที่ไทยชำระแทนเงินไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีแล้ว ยังมีความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องกระบวนการแลกเปลี่ยนที่อาจต้องใช้วิธีที่ให้รัฐบาลของต่างประเทศหรือบริษัทนายหน้าเข้ามาเป็นคนกลาง เพื่อสามารถส่งต่อสินค้าการเกษตรเหล่านั้นสู่ภาคเอกชนอื่นที่ต้องการ และนำเงินมาชำระคืนแก่เอกชนที่เป็นผู้เข้ามาลงทุนต่อไป

ระบบบาร์เทอร์เทรดไม่ได้ช่วยลดภาระงบประมาณและปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด สมมติว่าบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลยินดีที่จะรับเงื่อนไขนี้ แต่วิธีการดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยลดภาระต่องบประมาณของรัฐและไม่ทำให้ดุลการค้าของไทยในภาพรวมดีขึ้นแต่อย่างใด เหตุผลคือ รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องนำเงินที่อาจมาจากงบประมาณแผ่นดินหรือจากการกู้ยืม เพื่อนำไปซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร แล้วนำไปชำระคืนแก่บริษัทที่เข้ามาลงทุน ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลยังคงต้องจ่ายเงินชำระหนี้เช่นเดิม

วิธีการดังกล่าวยังไม่ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการชำระหนี้ด้วยสินค้าเกษตรนี้ ไม่ช่วยทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการย้ายช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากการที่ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยส่งออกด้วยตนเอง เป็นการที่รัฐบาลเป็นนายหน้าที่ช่วยส่งออกแทนเท่านั้น

การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลจึงเป็นเสมือนการเป็นเซลล์แมนที่ไม่ดี กล่าวคือพยายามทำในทุกวิถีทางเพียงเพื่อให้ปิดการขายได้สำเร็จ ดังเช่นรัฐบาลที่พยายามเรียกความเชื่อมั่น ศรัทธาจากประชาชนคืนมา โดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับไม่ได้พูดถึง