Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ถ้าเพื่อน ๆ จำกันได้ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ในการประชุมสภาสมัยสามัญ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ผมได้ขอแปรญัตติโดยแก้ไขความในมาตรา 6 ซึ่งระบุว่า “ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้” โดยตัดนายกฯ ออกจากการรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ หรือแก้เป็น “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้” โดยมีเหตุผลว่า แม้นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการร่วมกันตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 แต่การที่นายกฯเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เป็นการไม่เหมาะสม

ในประเด็นดังกล่าว นายวราเทพ รัตนากร รองประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า การให้นายกฯ รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้มีความเหมาะสม เพราะเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 โดยอ้างอิงตามความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกา ตามหนังสือ เลขที่ นร 0901/0068 ลงวันที่ 15 มกราคม 2547

ผมคิดว่า การอ้างความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาเป็นสรณะในการตัดสินใจว่า ควรให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการร่วมกับ รมว.กระทรวงการคลังนั้น ถือเป็นการแสดงความลื่นไหลของรัฐบาล เพราะไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนว่า ใช้มาตรฐานหรือเหตุผลใดในการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อความเห็นของกฤษฎีกา เพียงยกกฤษฎีกาในประเด็นที่สนับสนุนตนมาใช้อ้างเท่านั้น

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง หากย้อนกลับไปดูพฤติกรรมในอดีต สิ่งที่รัฐบาลทำคือ ไม่ได้ยึดความเห็นของกฤษฎีกาเป็นหลัก แต่ “เลือกที่จะเชื่อ” และ “เลือกที่จะไม่เชื่อ” ตามความเห็นของตนเอง อาทิ รัฐบาลเลือกที่จะเชื่อความเห็นของกฤษฎีกาว่าถูกต้องและเหมาะสม ในเรื่องการให้นายกฯ รักษาการ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ฯ แต่ในกรณีของที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อการให้ความเห็นของกฤษฎีกา ทั้ง ๆ ที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เพิกถอนสารสิทธิ์สนามกอล์ฟอัลไพน์ เพื่อให้ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์

นอกจากนี้ จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของการกำหนดวิธีการงบประมาณ เพื่อสืบค้นว่าเหตุใด พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 จึงกำหนดให้มีผู้รักษาการ 2 ท่าน พบว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวร่างขึ้นในช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคเผด็จการทางทหาร และมีความต้องการให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง (strong executive) จอมพลสฤษดิ์จึงได้จัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่ในการใช้จ่ายและจัดทำงบประมาณแทนกระทรวงการคลัง และกำหนดให้สำนักงบประมาณอยู่ภายใต้โครงสร้างของสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่นั้นมา ทำให้นายกฯกลายเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงบประมาณ

ดังนั้น หากพิจารณาโดยยึดความถูกต้องในเชิงกฎหมายเพียงประการเดียวแล้ว การให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตาม พร.บ.งบประมาณฯ ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากยุคเผด็จการ แต่หากพิจารณาในเชิงความเหมาะสมแล้ว ครั้งหนึ่ง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรกได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมาว่า “สำนักงบประมาณไม่ควรขึ้นอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี สมควรที่จะขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง เพราะเหตุว่า ไม่ว่าที่ไหน ๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้ใดมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการที่จะหาเงิน ก็ควรจะมีหน้าที่รับผิดชอบในทางจ่ายเงิน จึงจะสมดุลกัน”

ข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับเนื้อหาของการแปรญัตติที่ผมได้เสนอว่า ไม่ควรให้นายกฯ รักษาการตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายฯ เนื่องจากเหตุผลที่นายกฯ เข้ามารักษาการ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขของการที่สำนักงบประมาณขึ้นตรงอยู่กับสำนักนายกฯ แต่ตามหลักการควรจะเป็นคือ การให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ เพราะเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของการหาเงินอยู่ควรมีหน้าที่ควบคุมในการใช้จ่ายเงินด้วย และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสียงท่วมท้นจนฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ ฝ่ายบริหารจึงมีอำนาจเข้มแข็งมากอยู่แล้ว การให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตารม พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะยิ่งทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การที่จะหาคำตอบของประเด็นคำถามที่ ดร.ป๋วย ได้เปิดประเด็นไว้ว่า “สำนักงบประมาณควรขึ้นตรงกับกระทรวงใด ระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงการคลัง?” และคำถามที่ผมได้เปิดประเด็นว่า “นายกรัฐมนตรีควรรักษาการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือไม่?” มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยมิได้ยึดบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ หรือโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นช่องในการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง แต่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ
เพื่อน ๆ มีความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะอย่างไรต่อประเด็นดังกล่าว หรือมีความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะในประเด็นอื่น ๆ สามารถเสนอความเห็นผ่านทาง E-mail ของผมได้ครับ