Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ข้อสังเกตต่อแผนการลงทุนเมกะโปรเจกต์

 

18 มิถุนายน 2548

 
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

แผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ มีความน่าสงสัยว่า รัฐบาลให้ข้อมูลขาดดุลฯไม่ครบถ้วน เร่งลงทุนปีสุดท้ายหวังคะแนนเสียง และมาตรการลดขาดดุลฯเป็นไปไม่ได้จริง           

จากมติ ครม. วันที่ 14 มิ.ย. 2548
ที่ได้รับทราบแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega-project) ของกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับแผนดังกล่าว 

จงใจให้ข้อมูลการขาดดุลฯไม่ครบถ้วน?

จากมติ ครม
.
ที่เผยแพร่ในเวปไซต์ของรัฐบาล (thaigov.go.th) และจากข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ได้ระบุถึง ผลกระทบของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ว่า จะมีผลทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ในช่วง 5 ปี (2548-2552) ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้เคยยืนยันว่า จะรักษาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้ไม่เกินร้อยละ 2 ของจีดีพี แต่ผมได้พบความจริงว่า ผลการวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังได้ระบุการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550-2552 ที่ร้อยละ 2.04, 3.29 และ 2.15 ตามลำดับ ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน มีความจงใจปกปิดข้อมูลเพื่อรักษาภาพพจน์ แต่ไม่ได้พยายามรักษาคำพูดหรือไม่ 

เร่งลงทุนก่อนเลือกตั้ง?           
ในประเด็นที่ต่อเนื่องกัน จากการพิจารณาวงเงินลงทุนในแต่ละปี พบว่าเงินลงทุนในเมกะโปรเจกต์ในปี 2551 มีวงเงินสูงที่สุดในตลอด 5 ปีของการลงทุน ผมจึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เหตุใดแผนการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ จึงใช้เงินลงทุนสูงสุดในปี 2551 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล และเป็นปีก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งที่สามารถกระจายเงินลงทุนออกไปยังปีอื่น ๆ ได้ และยังทำให้ไม่เกิดแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งผลการศึกษาของกระทรวงการคลัง พบว่า ปี 2551 เป็นปีที่ขาดดุลสูงที่สุดในตลอด 5 ปีเช่นกัน รัฐบาลมีแรงจูงใจทางการเมือง มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ 

แก้ขาดดุลฯเป็นไปได้จริง?
ประเด็นสุดท้ายที่ผมขอตั้งข้อสังเกต รัฐบาลได้เคยยืนยันว่า หากขาดดุลฯเกินร้อยละ 2 ของจีดีพี จะชะลอหรือเลื่อนโครงการที่มีความสำคัญน้อยออกไปก่อน รวมทั้งใช้วิธีการควบคุมสัดส่วนการนำเข้า ผมจึงเกิดความสงสัยว่า หากโครงการต่าง ๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้มีการลงนามในสัญญากับผู้รับเหมาภาคเอกชนไปแล้ว การชะลอโครงการ เลื่อนโครงการออกไป หรือไปควบคุมการนำเข้าของโครงการเหล่านั้น จะเป็นไปได้อย่างไรในภาคปฏิบัติ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญา ซึ่งทำให้ผู้รับเหมามีต้นทุนสูงขึ้น ผู้รับเหมาอาจไม่ยอมทำตามคำขอของรัฐบาล หรือเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ นอกจากนี้ หากรัฐบาลรู้ว่า สามารถใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศทดแทนได้ เหตุใดจึงไม่กำหนดในสัญญาตั้งแต่ก่อนทำสัญญา  

ประเด็นเหล่านี้เป็นคำถามที่ผมตั้งเป็นข้อสังเกต ที่อยากให้มิตรสหายช่วยกันติดตามและตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิด ในการนี้คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กำลังเตรียมการสัมมนาเกี่ยวกับเมกะโปรเจกต์ขึ้น ในวันที่
1 กรกฎาคม 2548 เวลา 9.30-12.00 น ที่อาคารรัฐสภา 2 หากมิตรสหายท่านใดสนใจเข้าร่วมสัมมนา สามารถสอบถามรายละเอียดการสัมมนาผ่านมาทาง E-mail ของผมได้ครับ