Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


ความหลอกลวงของนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
Hoodwinked by the Privatization Policy

 

18 กุมภาพันธ์ 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ลักษณะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลนี้ คือการทำให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของบางส่วน โดยรัฐบาลยังคงอำนาจในการบริหาร แต่แทนที่รัฐบาลจะใช้อำนาจการบริหารเพื่อประโยชน์ของประชาชน กลับทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนผู้ถือหุ้น เนื่องจากรัฐบาลและเอกชนเป็นคนเดียวกัน จึงทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ลักษณะสำคัญของการแปรรูปฯ ในรัฐบาลนี้ คือ ไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน แต่ผูกขาดธุรกิจ ซึ่งเป็นสไตล์การทำธุรกิจของนายกฯ แท้ที่จริงแล้วเป็นวิธีการผูกขาดของภาคเอกชนที่ทำให้ดูเหมือนชอบธรรม หากนโยบายยังดำเนินไปแบบนี้ต่อไป ประชาชนและภาคการผลิตจะต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคในราคาสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ขนส่งมวลชน ดังที่เป็นอยู่กับภาคพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากการผูกขาดระบบท่อก๊าซของ ปตท. จนทำให้ ปตท.มีกำไรมหาศาลในปีที่ผ่านมา

รัฐบาลได้เตรียมนำรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะรัฐบาลวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานและรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ทางด่วน เป็นต้น โดยการพยายามเร่งจ่ายหนี้ที่คงค้าง เพื่อลดภาระการชำระหนี้ของเอกชนที่จะเข้ามาถือหุ้น การโยกย้ายสินทรัพย์ของรัฐที่มีคุณภาพดีและมีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าไปสู่รัฐวิสาหกิจนั้น ก่อนที่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น รวมทั้งการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ที่เข้ามาถือหุ้น

รัฐบาลมักจะอ้างเหตุผลในการดำเนินการที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ว่า เพื่อดึงดูดนักลงทุน และเพื่อให้ขายหุ้นได้ในราคาสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนรายใหญ่ที่ได้รับหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เข้าไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กลับเป็นเครือญาตินักการเมืองและกลุ่มธุรกิจที่เป็นพวกพ้องของนักการเมือง ตลอดจนกองทุนจากต่างประเทศที่ไม่สามารถระบุชื่อนักลงทุนในกองทุนดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นข้อสงสัยของประชาชนว่า อาจจะเป็นนอมินีของนักการเมืองใหญ่ในรัฐบาล

ส่วนข้ออ้างว่าเพื่อให้ขายได้ในราคาสูงนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการกำหนดราคา IPO ของหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ขายให้กับนักลงทุนและประชาชนในช่วงแรกนั้น ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทั้งนี้มีการศึกษาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ระบุว่า มูลค่าการประเมินทรัพย์สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต่ำกว่าความเป็นจริงมากถึง 10 เท่า ดังนั้นราคาหุ้นที่ควรจะเป็นน่าจะสูงกว่าราคา IPO มาก เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่า ผู้ที่ได้รับหุ้นรัฐวิสาหกิจจะฟันกำไรมหาศาลจากส่วนต่างของราคา IPO และราคาที่แท้จริงของหุ้นรัฐวิสาหกิจ

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่สามารถสะท้อนพฤติกรรมแสวงหากำไรสูงสุดจากแปรรูปฯของได้อย่างชัดเจน หากกระบวนการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ประสบความสำเร็จในอนาคต จะมีหลักประกันอย่างไรว่า ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยปราศจากพฤติกรรมแสวงหากำไรสูงสุด

สิ่งที่ผมเป็นกังวลมาก คือ ประชาชนยังได้รับข้อมูลจากคำโฆษณาชวนเชื่อที่บิดเบือนว่า เมื่อแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว จะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ เกิดการขยายศักยภาพในการปฏิบัติงาน กำไรที่ได้จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

ซึ่งเป็นเพียงการสร้างภาพให้ประชาชนเห็นแต่สิ่งที่ดี บิดเบือนความเข้าใจของประชาชน เพราะสิ่งเกิดขึ้นจริงวันนี้การแปรรูป ปตท. ประชาชนถูกสูบเลือด แต่ตรงกันข้ามปตท.มีกำไรกว่าแสนล้าน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อรัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกแปรรูปไปแล้ว เดาได้ไม่ยากว่า ประชาชนจะเป็นอย่างไร