Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

คนไทยจะได้อะไรจากกระแส outsourcing
What will we gain from current outsourcing?

 

17 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เชื่อหรือไม่ว่า ทฤษฎีที่บอกว่าโลกกลม กำลังจะถูกล้มล้าง เพราะโลกกำลังจะแบน !!!

หนังสือ “The World is Flat” ของ Thomas Friedman ได้จุดประกายความคิดนี้จากการเดินทางของผู้เขียนไปทำข่าวที่เมือง Bangalore ประเทศอินเดีย และได้พบกับความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และพบว่าประเทศของเขาคือสหรัฐอเมริกา และประเทศที่เคยถือว่าด้อยพัฒนากำลังจะก้าวขึ้นมาเทียบชั้นกัน ทำให้เป็นโลกที่ไม่มีอันดับอีกต่อไป เขาจึงสรุปว่า “โลกกำลังจะแบน” ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสุดยอดของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าโลกแบนในเชิงกายภาพ

Friedman ได้แบ่งโลกาภิวัตน์ออกเป็น 3 ยุค คือ Globalization 1.0 (version 1.0) เริ่มต้นตั้งแต่โคลัมบัสค้นพบดินแดนใหม่ ยุคนี้เป็นการเชื่อมกันระหว่างประเทศ โดยตัวจักรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ กำลังคน กำลังของสัตว์ต่าง ๆ

ต่อมาคือยุค Globalization 2.0 เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 1800 ซึ่งเริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการค้นพบเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ พลังเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องจักรที่ใช้น้ำมัน จนกระทั่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ โทรเลข เป็นต้น ทำให้ต้นทุนในการขนส่งและสื่อสารลดลง ยุคนี้จึงเกิดบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation – MNCs) ขึ้น และเป็นโลกที่เชื่อมโยงกันไม่เพียงแต่ระดับรัฐชาติเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึงระดับบรรษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ

สุดท้ายคือยุค Globalization 3.0 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2000 Friedman มองว่ายุคนี้เป็นการเชื่อมโยงลงลึกไปถึงระดับปัจเจกบุคคล ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรงผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เช่น การประชุมระหว่างผู้บริหารบริษัทที่อยู่กันคนละทวีป หรือนักศึกษาชาวอเมริกันและชาวนิวซีแลนด์ร่วมกันคิดค้นโปรแกรมโดยไม่เคยเห็นหน้ากันแม้แต่ครั้งเดียว เป็นต้น

Friedman ได้อธิบายการเชื่อมโยงของโลกในปัจจุบัน ที่มีระบบการจ้างหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (outsourcing) มากอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น บริษัทในสหรัฐฯ ต่างย้าย call center ไปยังอินเดีย โดยมีพนักงานชาวอินเดียที่สามารถพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันได้อย่างดี เช่นเดียวกับบริการบริษัทด้านบัญชีของสหรัฐฯ ที่นิยมจ้างนักบัญชีในอินเดีย โดยธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 25,000 งานในปี 2003 เป็น 4 แสนงานในปี 2005 แม้แต่บริษัทด้านข่าวอย่าง Reuters ยัง outsource ไปยังอินเดีย หรือแม้แต่รูปปั้น Virgin of Guadadalupe ที่ชาวเม็กซิกันนับถือและวางขายในเม็กซิโกยังทำมาจากประเทศจีน เป็นต้น

อันที่จริง outsourcing เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เท่านั้น ยังมีกระบวนการผลิตแบบอื่น ๆ อีกมากที่ Friedman ได้กล่าวในหนังสือเล่มนี้ แต่การที่ผมนำเรื่อง outsourcing มาเล่าสู่กันฟัง เพราะคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อคนไทย

ในด้านโอกาสนั้น outsourcing ทำให้ตลาดแรงงานของไทยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานโลก ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าการทำงานในประเทศไทยมาก outsourcing จะทำให้แรงงานไทยจำนวนหนึ่งสามารถรับการจ้างงานจากบริษัทต่างประเทศ โดยไม่ต้องจากบ้านจากถิ่นไปยังต่างประเทศ แต่ได้รับรับเงินเดือนระดับสูงได้ (แม้จะยังต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานอเมริกัน) ซึ่งเป็นโอกาสให้แรงงานไทยในระดับบนทั้งหลาย

แต่ในขณะเดียวกัน outsourcing อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
ประการแรก ความไร้เสถียรภาพของตลาดแรงงานระดับสูง เพราะเมื่อตลาดแรงงานไทยถูกผนวกเข้ากับตลาดแรงงานโลกแล้ว อาจทำให้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะถูกส่งผ่านมายังเศรษฐไทยมากขึ้น กล่าวคือหากเศรษฐโลกตกต่ำจะส่งผลโดยตรง ทำให้แรงงานระดับสูงของไทยตกงานไปด้วย

ประการที่สอง ปัญหาการสมองไหลจากหน่วยงานในประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีบริษัทต่างชาติมาจ้างคนไทยด้วยเงินเดือนสูงถึงบ้านเกิดเมืองนอน

ประการสุดท้าย ช่องว่างการกระจายรายได้ที่มากขึ้น เนื่องจากแรงงานที่รับประโยชน์จาก outsourcing คือแรงงานที่มีฝีมือ (skilled labor) ที่มีคุณสมบัติสำคัญขั้นพื้นฐาน คือ พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศได้คล่องและใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี ความต้องการแรงงานกลุ่มนี้จะทำให้ระดับค่าจ้างแรงงานมีฝีมือในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น outsourcing จะทำให้ช่องว่างของรายได้เพิ่มมากขึ้น

ผมเห็นว่าความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถจัดการได้ outsourcing จึงน่าจะเป็นโอกาสมากว่าความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม โอกาสดังกล่าวนี้อาจจะยังไม่เปิดต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากบุคลากรในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทต่างประเทศต้องการ มีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของการปฏิรูปการศึกษา ทำให้คนไทยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากกระแส outsourcing มากนัก