Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


 

แนวทางพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขของประเทศไทย
An Index of Gross National Happiness in Thailand

 

17  กรกฎาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                     

พฤติกรรมของมนุษย์มุ่งที่จะแสวงหาความสุขอยู่เสมอ จึงพยายามหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งความสุข รัฐบาลที่ดีจึงควรดำเนินนโยบายที่มุ่งสร้างความสุขให้แก่ประชาชนในประเทศ การสร้างความสุขควรเป็นเป้าหมายปลายทางที่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตามความสุขของมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีความเป็นพลวัต และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทำให้การเข้าใจสภาพความสุขโดยรวมของประชาชนทั้งหมดยังทำได้ยาก

รัฐบาลของทุกประเทศมักสนใจในเป้าหมายที่วัดได้ อาทิ ตัวแปรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ฯลฯ หรือแม้แต่ตัวชี้วัดทางสังคม เช่น อัตราการอ่านออกเขียนได้ หรืออายุขัยเฉลี่ย แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าแนวทางบริหารประเทศดังกล่าวได้บรรลุเป้าหมายปลายทางที่แท้จริง คือได้ทำให้ความสุขโดยรวมของคนในชาติเพิ่มขึ้นหรือไม่

เนื่องจากความสุขของแต่ละคนขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละปัจเจกบุคคล คนแต่ละคนจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ปัญหาอีกประการ คือ หากรัฐบาลต้องการทราบความสุขของประชาชน ไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดเพียงตัวใดตัวหนึ่งเพื่อที่จะทราบความสุขของประชาชนได้

ด้วยเหตุผลที่ตัวแปรและตัวชี้วัดต่าง ๆ ไม่สามารถสะท้อนความสุขของคนในประเทศได้อย่างถูกต้องทั้งหมด จึงทำให้การแก้ปัญหาที่มุ่งเป้าที่ตัวชี้วัดเพียงบางตัวอาจเป็นการกำหนดนโยบายอย่างผิดทิศทาง การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาจไม่ถูกจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง

จากงานวิจัยเรื่องการพัฒนาชุดดัชนีชี้วัดความสุขของประเทศไทย[1] ผมได้ศึกษาเพื่อหาชุดของดัชนีเศรษฐกิจที่สามารถชี้วัดระดับความสุขของประชาชนได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นรูปธรรม และสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อจะทำให้ทราบถึงปัจจัยที่กำหนดระดับความสุขของประชาชน ซึ่งแบบจำลองที่ผมใช้ในการประมาณค่าสมการดัชนีความสุข คือ แบบจำลอง Ordered Probit โดยใช้ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจค่านิยมของโลก (World Values Survey) ปี 2542/2543

ในกลุ่มตัวแปรมหภาค ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสุข ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงาน โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสุข ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความสุข

ในแง่ขนาดของอิทธิพลของปัจจัยเหล่านี้ที่มีต่อความสุข ผมพบว่า อัตราเงินเฟ้อมีอิทธิพลต่อความสุขมากที่สุด รองลงมาได้แก่ อัตราการว่างงานและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามลำดับ

ในกลุ่มตัวแปรจุลภาค ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสุขอย่างมีนัยสำคัญ  ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา การมีงานทำและระดับรายได้ โดยมีลักษณะความสัมพันธ์ดังนี้ เพศหญิงมีความสุขมากกว่าเพศชาย อายุมีความสัมพันธ์กับความสุขโดยช่วงอายุ 51.8 ปี  จะมีความสุขน้อยที่สุด สถานภาพสมรสมีความสัมพันธ์กับความสุขเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน แต่งงาน โสด และหย่าร้าง แยกกันอยู่ ม่าย และอื่น ๆ ขณะที่การตกงานทำให้มีความสุขลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการมีงานทำ ส่วนรายได้และระดับการศึกษามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสุข

ในกรณีของประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้มีความสุขมากมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสุขดังกล่าวข้างต้น มากกว่าผู้มีความสุขน้อย ทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ

ดัชนีชี้วัดดังกล่าวที่ผมได้ทำการศึกษาข้างต้น ถึงแม้ยังไม่ใช่ดัชนีชี้วัดความสุขโดยรวมของทั้งประเทศได้อย่างสมบูรณ์ แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุดดัชนีชี้วัดความสุขได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นรูปธรรม และชี้แนวทางที่ทำให้ ความสุขจับต้องได้

 

[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2549) การพัฒนาดัชนีความสุขของประเทศไทย, รายงานวิชาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชนรุ่นที่ 5, สถาบันพระปกเกล้า.

 



-------------------------------