Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


นโยบายเศรษฐกิจปี 49 ความพยายามครั้งใหม่ที่ขาดทั้งความเป็นไปได้และการบูรณาการ
The Economics Policy in 2006

 

17 มกราคม 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

จากการที่นายกฯ ได้จัดงานแถลงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจปี 2549 โดยใช้ชื่องานว่า “ทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2549” โดยเชิญนักธุรกิจเข้ามาฟังคำแถลง ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ทิศทางในปี 2549 ที่ท่านนายกฯ ได้แถลงดังนี้

นโยบายขายฝัน ขาดความเป็นไป

นโยบายเศรษฐกิจที่นายก ฯ ประกาศนั้น มีลักษณะเป็นแนวคิดว่า นายกฯ อยากจะทำอะไรในปีนี้ แต่ไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาลจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ไม่มีกรอบเวลา วัดผลไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร ไม่มีผลการศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ การวาดวิสัยทัศน์ของนายกฯ จึงอาจไม่สามารถทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นได้

ในอดีตมีนโยบายจำนวนมากที่รัฐบาลไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริง เช่น การประกาศว่าจะสร้างเมืองราชการที่นครนายก การพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินให้เป็นนครสุวรรณภูมิ บางนโยบายมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายตลอดเวลา โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น รถไฟฟ้า ลักษณะของนโยบายมีการเปลี่ยนแปลงรายวัน อีกทั้งบางนโยบายขาดความจริงจัง เช่น การขาดแคลนเอธานอล ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผู้ผลิตไม่กล้าที่จะลงทุน ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการผลิตเอธานอลอย่างจริงจัง ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนไม่สามารถมั่นใจว่า รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้จริงจังหรือไม่ หากยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้

นโยบายสะเปะสะปะ ขาดบูรณาการ
 

รัฐบาลชุดนี้แสดงตัวว่าต้องการทำทุกอย่างพร้อมกัน ขาดยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ ไม่ได้เรียงลำดับความสำคัญ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (hub) แทบทุกอย่าง ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศไว้อย่างน้อย 46 ฮับ สะท้อนว่า นายกฯ กำหนดวิสัยทัศน์สะเปะสะปะ ตัวอย่างถัดมา คือ เมกะโปรเจกต์ หรือที่นายกใช้คำใหม่ว่า“modernization” การดำเนินการที่ผ่านมา ไม่ได้มีการจัดลำดับความสำคัญ รัฐบาลไม่สามารถตอบได้ว่า มีเหตุผลในการแบ่งงบประมาณในโครงการต่าง ๆ อย่างไร หรือจะทำโครงการใดก่อน-หลัง

สำหรับภาพรวมของนโยบายที่นายกฯ ประกาศเมื่อวันที่ 11 ..นั้น ผมยังไม่เห็นว่า มีความสอดคล้องกับทิศทางนโยบายเดิมอย่างไร เช่น การเป็นฮับทุกด้าน สอดคล้องกับ Global Niche ที่เน้น 5 อุตสหากรรมอย่างไร อุตสาหกรรมที่เป็นพระเอกในแต่ละจังหวัด สอดคล้องกับ OTOP อย่างไร ทิศทางเศรษฐกิจที่นายกฯ แถลงนั้นจึงดูเหมือนว่า นายกฯ คิดอะไรได้ ก็นำมาเป็นนโยบาย แต่ขาดการบูรณาการ

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่นายกฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญคือการพัฒนาคน เพราะเน้นไปที่การลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ อาทิ การแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน นำเครื่องจักรไปให้ นำสมาร์ทการ์ดมาใช้ เน้นสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งผมไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ แต่พฤติกรรมที่ผ่านมารัฐบาลไม่เอาใจใส่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะทำให้การนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ตามที่นายกฯต้องการนั้น จึงเป็นเรื่องยาก

พฤติกรรมเช่นนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งว่า นายกฯ ไม่ได้มองการพัฒนาประเทศอย่างเป็นองค์รวม เป็นการแถลงนโยบายโดยหวังผลเพียงเพื่อเรียกศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลคืนมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ขัดแย้งกับที่นายกฯเคยกล่าวว่า “จะไม่เล่นการเมืองจนกว่าจะถึงปี 2551”