Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

          ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ขาดความชัดเจน แม้ว่า พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจได้ระบุว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณร้อยละ 35 ของงบประมาณแผ่นดิน ให้ท้องถิ่นภายในปี 2549 แต่ในปี 2548 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นเพียงร้อยละ 23.5  อีกทั้งยังมีข่าวออกมาว่ากระทรวงการคลังเตรียมเสนอปรับการจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นในปี 2549 ให้เหลือเพียงร้อยละ 24 เนื่องจากเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 35 เป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับภารกิจที่ส่วนกลางจะถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น ทั้งนี้รัฐบาลอ้างว่าจะชะลอการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาและสาธารณสุข เนื่องจากเห็นว่าท้องถิ่นขาดความพร้อมในการรับการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว

          การขาดความชัดเจนของรัฐบาลทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังไกลจากความเป็นจริง และการอ้างว่าท้องถิ่นขาดความพร้อมจึงไม่กระจายอำนาจให้นั้น เป็นเหตุผลที่รัฐบาลควรนำกลับไปทบทวนเพื่อค้นหาหนทางแก้ไข ไม่ใช่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อจะไม่กระจายอำนาจเท่านั้น การขาดความพร้อมของท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รับรู้มานานแล้ว เนื่องจากท้องถิ่นไม่เคยมีโอกาสจัดบริการสาธารณะเอง แต่รัฐบาลคือผู้จัดบริการสาธารณะมาโดยตลอด จึงเป็นเรื่องปกติที่ท้องถิ่นจะขาดความพร้อมและประสบการณ์ ประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ จะทำอย่างไรที่จะสามารถกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ แม้ท้องถิ่นบางส่วนยังขาดความพร้อม อาทิ
         
         
กระจายอำนาจในส่วนที่มีความพร้อมก่อน
          แม้ว่าในภาพรวมดูเหมือนว่า ท้องถิ่นจะขาดความพร้อมรับการกระจายอำนาจ แต่มีท้องถิ่นบางแห่งที่พร้อมรับการกระจายอำนาจ รัฐบาลจึงควรให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมได้รับการถ่ายโอนอำนาจ และติดตาม ตรวจสอบ ประเมินความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดีกว่าที่จะรอให้ทุกท้องถิ่นมีความพร้อมแล้วกระจายอำนาจไปพร้อมกัน เพราะหากพบปัญหาและอุปสรรคจะแก้ไขได้ยากกว่า และไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของท้องถิ่นอื่นได้

          จับคู่พัฒนาท้องถิ่น
          ในส่วนของการเตรียมความพร้อมให้กับท้องถิ่นที่ยังขาดความพร้อม แทนที่จะให้แต่ละท้องถิ่นลองผิด ลองถูกในการเตรียมความพร้อมด้วยตนเอง หรือให้แต่ละท้องถิ่นแยกกันเตรียมความพร้อม รัฐควรจัดระบบที่ช่วยให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่นที่ขาดความพร้อม โดยเลือกท้องถิ่นที่มีลักษณะประชากร ขนาดพื้นที่ ระดับรายได้ และทรัพยากรในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพกว่า เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ไม่เป็นเพียงการเรียนรู้จากทฤษฎีหรือแนวคิดเท่านั้น

            จากแนวทางที่กล่าวมา เป็นตัวอย่างแนวทางเพื่อปรับปรุงกระบวนการกระจายอำนาจให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถส่งแนวคิดแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ