เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
จากที่มีรายการภาคเช้า ณ สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง
ที่มีผู้ดำเนินรายการชายอาวุโส 2 ท่าน ได้กล่าวพาดพิงถึงผมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยกล่าวว่า การขายหุ้น กฟผ. นั้นรายได้มิได้เข้าเงินคงคลัง และบอกว่า
การที่ผมกล่าวว่า การขายหุ้น กฟผ. เชื่อมโยงกับการออกตั๋วเงินคลัง 8 หมื่นล้านนั้น
ไม่เป็นความจริง รวมทั้งใช้คำพูดที่ดูถูกผมและสถาบันที่ผมจบการศึกษา ผมคิดว่า
พิธีกรทั้งสองท่านนั้นเข้าใจสิ่งที่ผมพูดผิดอย่างสิ้นเชิง เขาฟังไม่ได้ศัพท์
แต่จับมากระเดียด และเถียงด้วยเหตุผลไม่ได้ จึงโจมตีตัวบุคคลให้ดูไม่น่าเชื่อถือ
แท้ที่จริง ผมพูดว่า การที่รัฐบาลขาดรายได้จากการขาย กฟผ.
ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการคลัง ผมไม่ได้พูดว่า ขาดเงินเข้าเงินคงคลัง
แต่พิธีกรทั้งสอง กลับไปเชื่อมโยงว่า ขาย กฟผ.ไม่ได้ ทำให้ไม่มีเงินเข้าเงินคงคลัง
หากเราเปรียบรัฐบาลเป็นเหมือนครอบครัวหนึ่ง รายรับ คือ เงินเดือนของพ่อแม่
และเงินกู้, รายจ่าย คือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในบ้าน, เงินคงคลัง คือ
เงินฝากของครอบครัว ขณะที่การขาดสภาพคล่อง สามารถเทียบได้กับปัญหาเงินช็อตในบ้าน
ซึ่งอาจเกิดได้จากรายได้ในบ้านหายไป เช่น พ่อตกงาน รายจ่ายในบ้านเพิ่มขึ้น (เช่น
ช่วงเปิดเทอมของลูก) หรือเงินฝากของครอบครัวเหลืออยู่น้อย ดังนั้น
สภาพคล่องของการคลังจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินคงคลังเท่านั้น
แต่ขึ้นอยู่กับทั้งรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลด้วย
แม้ว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้น กฟผ.จะอยู่ที่ กฟผ.ไม่ได้นำมาเข้าเงินคงคลังโดยตรง
แต่การชะลอการขายหุ้น กฟผ.
จะกระทบต่อสภาพคล่องของรัฐบาลผ่านทางรายรับและรายจ่ายของรัฐบาล
โดยเหตุผลที่การขายหุ้น กฟผ. มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของรัฐบาลมีดังนี้
การเข้าตลาดหุ้นของ กฟผ. มีผลต่อรายรับของรัฐบาลโดยทางอ้อม กล่าวคือ กฟผ.
จะมุ่งทำกำไรมากขึ้น ดังเช่นกรณีของ ปตท. ที่ทำกำไรสูงมาก
ในฐานะที่กระทรวงการคลังยังถือหุ้นใหญ่อยู่ น่าจะได้รับเงินที่หักจากรายได้ของ กฟผ.เข้าคลังมากขึ้น
นอกจากนี้ หาก กฟผ. ไม่ได้เข้าตลาดหุ้น หมายความว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ
จะหยุดชะงักตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่า
รัฐบาลจึงขาดโอกาสที่จะได้รับเงินมากขึ้นจากการหักรายได้ของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเข้าคลัง
การเข้าตลาดหุ้นของ กฟผ. มีผลต่อรายจ่ายของรัฐบาลโดยทางอ้อม
แผนการระดมทุนเบื้องต้นของโครงการเมกะโปรเจกต์มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน
เงินกู้ และกำไรจากรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการชะลอการขายหุ้น กฟผ.จะทำให้ กฟผ.และรัฐวิสาหกิจอื่น
ๆ ที่เข้าคิวแปรรูปต่อจาก กฟผ.ไม่ได้มีผลกำไรสูงดังที่รัฐบาลคาดหวังไว้
แต่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์เต็มสูบ
ปัญหาคือรัฐบาลจะนำเงินลงทุนมาจากแหล่งใด
หากไม่ใช่จากการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมากขึ้น
หรือจากการกู้ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น
ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยการให้สัมปทานก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์
แต่จากคำพูดของนายกรัฐมนตรีในรายการ นายกทักษิณคุยกับประชาชน
ได้กล่าวถึงแนวคิดการปลูกยางแลกรถไฟฟ้า ซึ่งหมายความว่า
รัฐบาลอาจจะต้องใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้นเพื่อลงทุนผลิตสินค้าที่จะนำไปแลกรถไฟฟ้า
หรืออาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐลงทุนผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อไปแลกรถไฟฟ้า
แต่หน่วยงานนั้นจะไม่ได้รับรายได้จากการลงทุนดังกล่าว
เพราะเป็นการนำสินค้าแลกกับรถไฟฟ้า
ซึ่งหมายความว่ารัฐจะขาดโอกาสได้รับรายได้เข้าคลังจากหน่วยงานนั้นๆด้วย
นอกจากนี้ เงินจากการขายหุ้นนั้นแม้จะยังอยู่ที่ กฟผ.
แต่รัฐบาลสามารถควบคุมการใช้เงินก้อนนี้ได้
โดยผ่านนโยบายของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรี
รวมถึงการที่รัฐบาลมีแผนจะจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ
ซึ่งอาจเป็นการรวมศูนย์การบริหารรายได้และการลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งระบบด้วย
ซึ่งหมายความว่ารายได้และผลกำไรของ กฟผ.อาจจะนำไปใช้ในโครงการอื่น ๆ
นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของ กฟผ.ได้ด้วย
ดังนั้นรัฐบาลอาจจะนำรายได้และกำไรของรัฐวิสาหกิจมาใช้ในโครงการของรัฐบาล
ซึ่งช่วยลดภาระรายจ่ายงบประมาณ ทำให้สภาพคล่องทางการคลังดีขึ้นได้
กล่าวโดยสรุป เมื่อรัฐบาลไม่สามารถขายหุ้น กฟผ.ได้
จึงขาดรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากผลกำไรของ กฟผ.
แต่รายจ่ายที่ต้องใช้ในโครงการประชานิยมต่าง ๆ ยังคงมีอยู่
นี่จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการขาดสภาพคล่องทางการคลัง
ที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
|