จากการที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ออกมาแถลงถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่
4 และแนวโน้มปี 2549 โดยไม่นำปัญหาด้านการเมืองมาเป็นปัจจัยหลักในการคำนวณจีดีพีทั้งหมด
เพราะคาดว่าจะยุติได้ไม่เกินกลางปี 2549 นั้น
ผมคิดว่าเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป สวนทางกับนักวิชาการและองค์กรหลายแห่ง
ในความเป็นจริง สถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่สภาพัฒน์คิด
นอกจากนี้การที่สภาพัฒน์ออกมาระบุว่าปัจจัยการเมืองไม่เป็นปัจจัยหลัก
เพียงเพราะคาดว่ายุติได้และเหตุการณ์ไม่ยืดเยื้อนั้น
ผมคิดว่าความยืดเยื้อไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นเดียว ที่ทำให้เกิด
ความสำคัญ อย่างเช่น สึนามิ ที่ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง
แต่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นการที่สภาพัฒน์ละเลยปัญหาการเมืองไป
โดยไม่นำมาใส่ใจนำมาคำนวณจีดีพี จึงถือว่าละเลยปัจจัยที่มีความสำคัญไป
ถ้าเราติดตามข่าวสารทางสื่อต่างๆ เราจะพบว่าความเห็นของ สภาพัฒน์สวนทางกับนักวิชาการและองค์กรหลายแห่ง
เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรม, สภาหอการค้าไทย เป็นต้น
ท่านเหล่านี้เห็นว่าปัจจัยทางการเมืองส่งผลกระทบแน่นอน
และเมื่อไม่นานมานี้หอการค้าได้แถลงว่าหากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ
จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ร้อยละ 3.5 ซึ่งห่างจากที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ
4.5 ถึง ร้อยละ 1 ดังนั้นการสรุปว่าปัจจัยการเมืองไม่มีผลต่อเศรษฐกิจเป็นการด่วนสรุป
สภาพัฒน์ควรศึกษาบนฐานวิชาการให้ดีก่อน อย่าเพิ่งปักใจว่าปัญหาการเมืองไม่เป็นปัจจัยหลักอย่างแน่นอน
ผมมองว่าปัญหาการเมืองจะยืดเยื้อต่อไป เนื่องจาก อ.ธีรยุทธ บุญมี
ออกมาแนะนำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างยืดเยื้อ รวมทั้ง ฝ่ายพันธมิตรประชาธิปไตยก็ประกาศจะชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าคุณทักษิณจะลาออก
แต่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการณ์ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะลาออก และในการเลือกตั้งวันที่
2 เมษายน มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ทำให้เปิดสภาฯ ไม่ได้ เนื่องจาก
หมอเปรมศักดิ์ ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย เพิ่งลาออกจากพรรคไทยรักไทย
และ ในบางเขตมี ส.ส.ไทยรักไทย เพียงคนเดียว ซึ่งทำให้ต้องได้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า
ร้อยละ 20 จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้น ซึ่งถ้า
ส.ส.คนนั้นได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20% จะต้องเลือกตั้งซ่อมจนกว่าจะได้
ส.ส.อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อออกไปและถ้าผลออกมาว่า
ไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาล และคุณทักษิณเป็นนายกฯ ปัญหาการเมืองไม่น่าจะจบง่ายๆ
เหมือนที่สภาพัฒน์คาดการณ์
การที่สภาพัฒน์อ้างว่าไม่มีแบบจำลองใด
ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ที่ระบุกรณีเช่นนี้ไว้ จึงไม่รู้ว่าจะใส่ลงไปอย่างไร
การคาดการณ์เศรษฐกิจทำได้เฉพาะปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น
กก.บริหารพรรค ปชป. แสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ว่า
เป็นสิ่งที่น่าแปลกมาก เพราะแม้ปัจจัยทางการเมืองจะไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์
ไม่สามารถใส่ลงในแบบจำลองได้โดยตรง แต่เราสามารถคำนวณหาปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่เทียบเท่า
(equivalent) ได้ ซึ่งโดยปกติ การประมาณการเศรษฐกิจของสำนักต่าง ๆ
ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางการเมืองอยู่แล้ว เหมือนอย่างที่หอการค้าทำที่ผ่านมา
หาก ณ เวลานั้นปัจจัยทางการเมืองมีนัยสำคัญมากพอ โดยอาจมีระดับความเชื่อมั่น
(confidence of interval) ของการคาดการณ์ที่ต่ำลง ตามความไม่แน่นอนทางการเมือง
มิฉะนั้น ครั้งใดที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง
ย่อมหมายถึงไม่สามารถประมาณการเศรษฐกิจได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง
หากสภาพัฒน์ไม่สามารถประมาณผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองได้ ก็ควรแถลงว่า
ขอรอดูสถานการณ์ทางการเมืองไปก่อน แทนที่จะกล่าวว่าปัจจัยทางการเมืองไม่มีผล
เพื่อจะไม่ทำให้ผู้นำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจผิดพลาด เกิดความเสียหายมากมาย
โดยผมคิดว่า ข้อมูลที่ผิดพลาด นั้นสามารถสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้มากกว่า
ข้อมูลไม่ครบถ้วน มากนัก