เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
การที่รัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเตรียมทุ่มงบฯ
กว่า 5 แสนล้านบาท
เพื่อพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองทันสมัย และยกระดับเป็น นครสุวรรณภูมิ
หรือ กรุงเทพแห่งที่ 2
โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนาคต
และคาดหวังว่านครสุวรรณภูมิจะเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งและคลังสินค้า
และแบ่งเบาความหนาแน่นในเมืองหลวง
เมื่อพิจารณาเป้าหมายในการเนรมิตนครสุวรรณภูมินั้นน่าตื่นเต้น
แต่เกิดคำถามตามมาอีกมากกับเป้าหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น
ความเหมาะสมในด้านพื้นที่
ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำและประสบปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี และเสี่ยงต่อสภาพพื้นดินยุบตัว
ซึ่งโดยปกติ พื้นดินในบริเวณดังกล่าวจะยุบตัวปีละ 10 ซม.
และมีข้อมูลว่าคันดินกั้นน้ำบริเวณด้านใต้ของสนามบินที่เคยสูง
3.5 เมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี
กลับยุบลงเหลือ 2.5 เมตรเท่านั้น
หากจะแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อสร้างมหานคร
ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการสร้างระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่
ซึ่งอาจจะทำให้น้ำไหลไปท่วมพื้นที่อื่นแทน
อีกทั้งพื้นที่สร้างนครสุวรรณภูมิซ้อนทับพื้นที่บางส่วนของโครงการแก้มลิงที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม
ความเหมาะสมทางด้านผังเมือง
การที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งสนามบิน การพัฒนาให้บริเวณใกล้เคียงให้เป็นเมือง
จะผิดเจตนาเดิมในการสร้างสนามบินบริเวณนี้เพื่อหนีจากเขตเมืองและการจราจรที่ติดขัด
รวมทั้งการป้องกันอุบัติเหตุจากเครื่องบินตก
การไม่ต้องการให้บริเวณใกล้สนามมีตึกสูงซึ่งเป็นอันตรายต่อเครื่องบิน หรือไม่
ความจำเป็นในด้านการปกครอง
ประเด็นที่ถกเถียงกันว่าจะตั้งเป็นจังหวัดที่ 77 หรือเป็นเขตปกครองแบบพิเศษ
อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองซึ่งมีความยุ่งยาก
เพราะหากรัฐบาลให้ความสนใจเพียงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินรอบสนามบินให้เป็นเอกภาพ
การจัดทำผังเมืองเฉพาะและกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ น่าจะเพียงพอ
และถึงแม้จะตั้งเป็นจังหวัดใหม่หรือไม่ตั้ง
นครสุวรรณภูมิยังต้องประสานกับเขตการปกครองที่อยู่รอบนครสุวรรณภูมิ
ในประเด็นการใช้พื้นที่และป้องกันน้ำท่วมอยู่ดี และประเด็นสำคัญคือ
ความเป็นไปได้ของเป้าหมายในการพัฒนานครสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งสินค้าและคลังสินค้า
ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยใช้ระบบการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก
ไม่ได้ใช้ระบบการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก
โดยอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องตั้งอยู่ใกล้สนามบินมีขนาดเล็กมาก
ปัจจุบันมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นเป้าหมายที่พัฒนาให้นครสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งสินค้าและคลังสินค้า
จำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าวเสียก่อน
รวมถึงการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้า ไม่จำเป็นต้องเป็นมหานคร
เพราะปัจจุบันมีแผนจะพัฒนาลาดกระบังเป็นศูนย์ระบบขนส่งสินค้าอยู่แล้ว
เมื่อพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า
จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาเมืองที่มีจุดอ่อนหลายประการ
การลงทุนครั้งนี้จะคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่
รัฐบาลควรนำเงินงบประมาณนี้ไปลงทุนกับโครงการอื่นหรือไม่ และหากไม่จำเป็น
ไม่คุ้มค่า รวมถึงมีโครงการอื่นที่น่าลงทุน แล้วอะไรคือเหตุผลที่แท้จริง ของการเนรมิตรนครสุวรรณภูมิ
|