Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

วอนรัฐบาลอย่าเตะถ่วงเอาโทษนอมินี
Pleading with the Government: Don’t Be Slow to Prosecute Nominees

 

14 กันยายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                            
     

จากที่กรมการขนส่งทางอากาศ แจ้งความดำเนินคดีกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่กระทำผิดกรณีนำเครื่องบินใหม่ 9 ลำ มาบินก่อนที่จะแก้ไขการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ตลอดจนความเคลื่อนไหวของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่เข้าไปตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัทกุหลาบแก้วในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นอาจเข้าข่ายคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือนอมินี  ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ..2542 นั้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามเอาผิดกับผู้ที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมาย

ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สังคมได้ตั้งคำถามกรณีมีการตรวจสอบจำนวนผู้ถือหุ้นชาวต่างด้าวเกินสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มเทมาเซค อาทิ แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิสหรือ เอไอเอส, ชินแซทเทิลไลท์, ไอทีวี รวมถึง ไทยแอร์เอเชีย หรือไม่

เมื่อผลสรุปออกมาชัดเจนว่า สัดส่วนผู้ถือหุ้นในบางบริษัทไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับไม่เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพยายามหาข้ออ้าง เพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายถูกยืดเวลาออกไป อาทิ

กรณี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัทกุหลาบแก้ว ระบุว่า บริษัทกุหลาบแก้วส่อเค้าเป็นนอมินี ของกลุ่มเทมาเส็ก แต่กระทรวงพาณิชย์กลับตั้งคณะทำงานเพิ่ม โดยอ้างว่า เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากผลสรุปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเพียงข้อสรุประดับกรม  จึงต้องนำมาพิจารณาต่อเพื่อความรอบคอบ[1]

กรณี กรมการขนส่งทางอากาศ ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ กรณีสายการบินไทยแอร์เอเชียเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งกฤษฎีกาได้แสดงความเห็นว่า หากคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะมีอำนาจเด็ดขาดในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติก่อนพักใช้หรือเพิกถอนหรือมีผลบังคับใช้ทันที แต่ความเห็นดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองโดย รมต.คมนาคม เลือกที่จะดำเนินการตามความเห็นที่ว่า บริษัทไทยแอร์เอเชียได้มีการแก้ไขและยื่นขอปรับเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้นในนามบริษัทเอเชีย เอวี เอชั่น จำกัด ได้ทันภายในกรอบเวลาที่กำหนด จึงถือว่าไม่มีเจตนาที่จะกระทำการฝ่าฝืนใบอนุญาต

สถานการณ์ข้างต้นนี้จึงสะท้อนความไม่สอดรับกันของการทำงานของแต่ละหน่วยงาน กล่าวคือ ในขณะที่หน่วยงานส่วนหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ ค้นหาความจริงเพื่อตอบคำถามสังคม และนำผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษ แต่หน่วยงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่คอยสานงานต่อ หรือรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการแก้ไขปัญหา กลับไม่ได้แสดงความพยายามที่มากพอ ในการนำตัวผู้ที่น่าเชื่อว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความผิด จึงทำให้กลไกการตรวจสอบไม่สามารถเดินต่อไปได้

หากเป็นเช่นนี้ การนำคดีขึ้นสู่กระบวนพิจารณาของศาลยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้ที่กระทำผิดได้รับประโยชน์จากความล่าช้าเท่านั้น แต่ในทางตรงข้ามประชาชนกลับเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหาย เพราะต่างชาติได้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากกิจการเหล่านั้น ซึ่งบางอย่างเป็นกิจการผู้ขาด หรือกึ่งผูกขาด อาทิ กิจการสื่อสารโทรคมนามคม กิจการการบิน  เป็นต้น

ผมจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงบทบาทที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และดำเนินการเอากับผู้ที่กระทำผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว เป็นธรรมและ ไม่เห็นแก่พวกพ้อง เพื่อให้กลไกการตรวจสอบทำงานอย่างเต็มระบบและมีประสิทธิภาพ สมกับความคาดหวังของประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้อยู่

[1]อุ้มไทยแอร์เอเชียพ้นผิด. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน. ประจำวันที่ 12 กันยายน 2549

   


-------------------------------