Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ข้อคิด 7 ประการ: FTA ไทย-ญี่ปุ่น
“Seven Suggestions for Thailand and Japan in Free Trade Agreement”

 

14 กันยายน 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก     

ในการสัมมนา เรื่อง “คนไทยได้อะไรจาก FTA ไทย-ญี่ปุ่น” เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ผมในฐานะประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อคิดหลายประการแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา            

ประเด็นแรก
การถกเถียงให้ได้ข้อสรุปเชิงมโนทัศน์ (Concept) ว่า “ควรเปิดเสรีหรือไม่ควรเปิดเสรี” หากเห็นว่าควรเปิดเสรีแล้ว คำถามต่อมาคือ “ควรเปิดเสรีในระดับใด” และหากการเปิดเสรีอย่างที่เป็นอยู่ เป็นผลดีต่อประเทศจริงโดยไม่มีเงื่อนไข ก็น่าจะพิจารณาเพื่อเปิดเสรีแบบฝ่ายเดียว (unilateral) ไปเลยโดยไม่ต้องเจรจา แต่หากต้องเจรจาก็แสดงว่าต้องเปิดเสรีแบบระมัดระวังให้เราได้ประโยชน์ ทั้งนี้การที่รัฐบาลรีบเร่งทำการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีโดยที่ยังไม่มีข้อสรุปเชิงมโนทัศน์ ทำให้เกิดข้อสงสัยและข้อโต้แย้งต่อรัฐบาลค่อนข้างมาก           

ประเด็นที่สอง ความเข้าใจถึงความสามารถในการปรับตัวของประชาชน
รัฐบาลควรเข้าใจความสามารถของประชาชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง  คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมหรือไม่จากการทำข้อตกลงฯ มีเกณฑ์ในการวัดความพร้อม และมีแผนการเตรียมความพร้อมอย่างไร

ประเด็นที่สาม
การยืนยันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ แม้ว่ารัฐบาลยืนยันว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการเจรจา แต่ไม่ได้ยืนยันว่าผลประโยชน์เป็นเท่าไร โดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคบริการนั้น มีข้อสงสัยว่ารัฐบาลได้พิจารณาจากอะไร ในเมื่อประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลของภาคบริการที่ดีพอ จึงถูกมองว่ามีกระบวนการตัดสินใจแบบกล่องดำหรือใช้ดุลยพินิจค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์

ประเด็นที่สี่ การมีส่วนร่วมของทุกภาคี
นับเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะภาคประชาชนและประชาสังคม มักเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา ด้วยเหตุที่กลุ่มในภาคประชาชนอยู่กระจัดกระจาย ไม่เข้มแข็งและขาดอำนาจต่อรอง รัฐบาลจึงต้องสร้างกลไกที่ทำให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ามามีบทบาทในการเจรจามากขึ้น

ประเด็นที่ห้า
ความไม่เท่าเทียมของรายใหญ่และรายย่อย ความกังวล คือ ผลประโยชน์จะตกไปถึงมือเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างไร ผู้ประกอบการของไทยในภาคเกษตรส่วนใหญ่ เป็นเพียงรายย่อย มีมาตรฐานการผลิตค่อนข้างต่ำ ผู้ประกอบการไม่ถึงร้อยละ 5 ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานในระดับสากล            

ประเด็นที่หก
ความเหมาะสมทั้งยามปกติและยามวิกฤต เนื่องจากการเปิดเสรีย่อมทำให้ประเทศไทยเกิดความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าบางชนิด หมายความว่า ไทยจะเลิกหรือลดการผลิตสินค้าบางชนิด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดความยากลำบากของคนในประเทศในยามวิกฤติ           

ประเด็นสุดท้าย
การจัดการผลประโยชน์ การเจรจาการค้าย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้น “การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์” (Trade off) รัฐบาลต้องพิจารณาในหลายมิติ รวมทั้งมีกลไกใน “การชดเชย” โดยดึงจากผู้ที่ได้รับประโยชน์มาชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบในด้านลบของการเจรจาฯ           

ข้อคิดทั้ง
7 ประการข้างต้นนี้จึงน่าเป็นกรอบแนวคิดที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติ และเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการเจรจาการค้าในอนาคต เพื่อก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลกอย่างชาญฉลาด