เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
การดำเนินการปฏิรูปการศึกษานับว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม
และดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามให้ความสำคัญ
แต่ผลที่ปรากฏกลับไม่เป็นไปตามที่ฝัน
ไม่ว่าจะเป็นสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนของเด็กไทยที่ต่ำลง
ความเหลื่อมล้ำระหว่างการศึกษาในเมืองกับชนบท
รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและหัวขบวนของการศึกษาไทยอยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งมีส่วนทำให้การดำเนินนโยบายไม่ต่อเนื่อง
ดังนั้นในเดือนสิงหาคมในปีนี้ ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญในวงการการศึกษาอย่างน้อย
2
เหตุการณ์ กล่าวคือ ครบรอบ
6 ปีของการปฏิรูปการศึกษา
และการได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่นั้น หากรัฐบาลจะถือโอกาสนี้กลับมาทบทวนแนวทางการดำเนินการในบางด้าน
เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสามารถก้าวไปถึงฝั่งได้อย่างรวดเร็วน่าจะเป็นโอกาสที่ดี
โดยมีแนวทางที่สำคัญดังนี้
ทบทวนการอุดหนุนการศึกษา
โดยหันมายึดหลักความเป็นธรรม
โดยอุดหนุนผู้เรียนที่มีฐานะยากจนมากกว่า และให้ผู้เรียนที่มีฐานะมีส่วนร่วมจ่ายค่าเล่าเรียนมากขึ้น
แม้ว่าการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงจะเป็นสิ่งรัฐบาลยังควรยึดไว้
แต่ความเป็นจริงคือ ผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน เช่น คนยากจน
คนด้อยโอกาส
คนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะมีต้นทุนในการเข้าถึงการศึกษาสูงกว่าการจัดการศึกษาโดยทั่วไป
เพราะต้องคำนึงถึงความขาดแคลน
และการช่วยเหลืออย่างครบวงจร
ดังนั้นการอุดหนุนผู้เรียนที่มีความสามารถในการจ่ายมากให้ได้รับเท่ากับผู้เรียนที่ขาดแคลนนั้น
จึงเป็นการอุดหนุนแบบไม่สมจริง
และจะส่งผลเป็นความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของรัฐ
ทบทวนประสิทธิภาพการบริหารแทนการมุ่งปรับโครงสร้าง
โดยพิจารณาให้ผลตอบแทนตามคุณภาพของงานและปริมาณงานอย่างเหมาะสม
คล้ายกับการประเมินในบริษัทเอกชนทั่วไป โดยให้การประเมินประสิทธิภาพการทำงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลที่มีความเที่ยงตรงตามหลักวิชาการและเป็นธรรม
เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษามีแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน
โดยไม่ยึดติดกับระบบราชการแบบเดิมทีไม่ได้ผูกโยงผลงานกับผลตอบแทนเข้าด้วยกัน
ทำให้แม้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือแม้แต่ตัวผู้บริหาร
ก็ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนมากเท่าที่ควร
ทบทวนการให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
แม้ว่าทิศทางการปฏิรูปการศึกษาได้เปิดโอกาสให้ภาคีต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมจัดการศึกษา
แต่ยังพบว่าผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมนั้นยังขาดความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษา เช่น
คณะกรรมการสถานศึกษาที่คัดจากคนภายนอกมิได้เข้าร่วมประชุมหรือมีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่
ทำให้แม้จะเกิดการเข้าร่วมของภาคีต่าง ๆ
แต่ยังไม่มีการร่วมแรงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรกำหนดผู้รับผิดชอบและระบบตรวจสอบการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาที่ชัดเจน
ในรูปของคณะกรรมการตรวจสอบการจัดการศึกษาร่วม
เพื่อการตรวจสอบและแก้ไขความผิดพลาดหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของภาคีต่าง ๆ
ได้ตรงจุด
ซึ่งจะช่วยให้ในระบบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเกิดสำนึกของความรับผิดชอบ
ดังนั้นการจะไปถึงเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาที่สมบูรณ์นั้น
ควรหันกลับมาทบทวนเป็นระยะ ๆ
ในจุดที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขภายใต้กระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ยังไม่สิ้นสุด
และจะพบว่ากำลังเข้าใกล้คำตอบที่คาดหวังมากขึ้นอย่างแน่นอน
|