ผมได้กล่าวถึงความขัดแย้งของ ขาโจ๋ หรือนักการเมือง (ฝ่ายรัฐบาล) และ ขาประจำ
หรือนักวิชาการ ซึ่งเกิดจากเป้าหมายของนโยบายที่นำเสนอนั้นแตกต่างกัน
โดยนักการเมืองมีเป้าหมายเพื่อคะแนนเสียงสูงสุด
แต่นักวิชาการมีเป้าหมายเพื่อเพื่อสวัสดิการสูงสุด
เมื่อความเห็นเรื่องนโยบายที่ควรจะเป็นไม่ลงรอยกัน จึงตามมาด้วยการ
เจรจาต่อรอง
ระหว่างนักการเมือง (ฝ่ายรัฐบาล)
กับนักวิชาการ ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการต่อรองนี้ไม่ใช่การต่อราคาเสื้อที่ตลาดโบ๊เบ๊
แต่เป็นการ นำเสนอความเห็น
จากนักวิชาการไปสู่รัฐบาล อย่างนุ่มนวลบ้าง หรือรุนแรงบ้าง
และด้วยความที่นักวิชาการมีจำนวนมาก
หรืออย่างน้อยก็มากกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งมีเพียงคนเดียว
จึงน่าเห็นใจว่าท่านนายกจะมีความรู้สึกเหมือนถูกรุมสกรัมจากนักวิชาการ
ทำให้รู้สึกอย่างที่วัยรุ่นพูดว่า เสียเซลฟ์
(self)
จนต้องใช้สิ่งที่วิชาจิตวิทยาเรียกว่า กลไกการป้องกันตนเอง
(defense mechanism) ด้วยการบริภาษนักวิชาการที่กล้ามา นำเสนอความคิด
ด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด
จริง ๆ
แล้วปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีทุกคน
แต่เหตุใดปรากฏการณ์นี้จึงรุนแรงเป็นพิเศษในสมัยรัฐบาลทักษิณ
ผมคิดว่ามีปัจจัยกำหนดอย่างน้อย 2
ปัจจัย
ปัจจัยแรกคือ
ความไม่สมดุลระหว่างความสำคัญของการตลาดและวิชาการของพรรคไทยรักไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านนายกนั้นเติบโตมาจากความเป็นนักธุรกิจ
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคการตลาด
ทำให้ท่านอาจนำความสามารถเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการออกนโยบายทางการเมืองด้วย
ในขณะที่ทางด้านวิชาการนั้น แม้พรรคไทยรักไทยอาจพยายามอย่างเต็มที่แล้ว
แต่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากเท่ากับการใช้ความสามารถทางการตลาด
ซึ่งสามารถผลิตนโยบายออกมาได้ โดนใจ
ประชาชนอย่างมาก
เมื่อนโยบายที่ออกมาเป็นที่ชอบใจของประชาชน
แต่ขาดรากฐานทางวิชาการตามอย่างที่ควรจะเป็น
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักวิชาการจะออกมาพูดสิ่งที่ดูเหมือนขัดแข้งขัดขามากกว่ารัฐบาลอื่น
ที่นโยบายส่วนใหญ่ถูกผลิตจากเทคโนเครตซึ่งผลิตนโยบายโดยใช้หลักวิชาการในระดับหนึ่ง
ปัจจัยที่สอง
ปัจจัยทางจิตวิทยาในตัวท่านนายก
ซึ่งเรื่องนี้ผมคงอธิบายไม่ได้ดีกว่าตัวคุณทักษิณเองว่า
ปัจจัยนี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดของท่านอย่างไร
อย่างไรก็ตาม
หากพิจารณาอย่างเป็นธรรม นักวิชาการจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้เป็นตามอุดมคติ
คือมิได้มีเป้าหมายในการเสนอความเห็นเพื่อสวัสดิการสูงที่สุดของประเทศ
แต่อาจมีเป้าหมายแฝงเพื่อประโยชน์ของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ
(ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทอง)
ดังนั้น
ผมเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดในกระบวนการ เจรจาต่อรอง
ระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการ
ควรเป็นการสนับสนุนให้มีการวิจัยอย่างเป็นกลางก่อนจะกำหนดนโยบายใด ๆ
เพื่อให้การประกาศใช้นโยบายต่าง ๆ เกิดผลดีที่สุดต่อประเทศ ส่วนการทำ การตลาด
สำหรับนโยบายนั้น
ควรเป็นไปเพื่อให้ประชาชนทราบถึงผลดีและผลกระทบของนโยบายอย่างครบถ้วน