จากการที่ไทยได้ดำเนินการเจรจาเขตการค้าเสรีไทยกับสหรัฐ ผมสังเกตว่า กระบวนการเจรจาเอฟทีเอไม่โปร่งใส
เพราะไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น กล่าวคือ
การกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน
กระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
แต่จะเน้นเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการ
ที่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการ
แม้จะมีกลไกหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนความเห็นของประชาชน
คือนำรายละเอียดการเปิดเสรีการค้าให้รัฐสภาได้ร่วมพิจารณา
แต่นายกฯได้ปฏิเสธกลไกนี้โดยอ้างว่า รัฐสภาไม่มีผู้เชี่ยวชาญจึงไม่จำเป็นต้องนำมาเข้าสภา
ซึ่งผมเห็นว่านายกฯ กำลังหลงประเด็น
เพราะการกำหนดนโยบายไม่ใช่การฟังเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
แต่ต้องฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านและพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย
หากไม่มีอะไรแอบแฝงนายกฯจะกลัวอะไรกับการให้สภาฯได้ร่วมพิจารณา เพราะนายกฯ
ก็คุมเสียงเบ็ดเสร็จในสภาฯอยู่แล้ว
การเจรจาที่ไม่อยู่บนฐานของผลการศึกษาวิจัย
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยและสหรัฐ
มีผลการศึกษาที่เผยแพร่ออกมาน้อยมาก
และไม่ครอบคลุมประเด็นที่ควรทำการศึกษาก่อนการเจรจา
ทำให้ผมเกิดข้อกังขาว่าการเจรจาได้มีการศึกษาและเตรียมการณ์อย่างรอบคอบหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น
ผมยังมีความกังวลว่ารัฐบาลไม่ได้นำผลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในการเจรจาและการเตรียมความพร้อม
เช่นผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอในปี 2546
ที่เสนอให้เร่งบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง
เพื่อป้องกันการผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติสหรัฐ
แต่จนถึงวันนี้กฎหมายดังกล่าวยังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้
รวมทั้งท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมเลย ทั้ง ๆ
ที่ผลวิจัยพบว่าการเปิดเสรีโทรคมนาคมมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค
การรีบเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติ
นโยบายในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐของนายกฯ
และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงมีความแตกต่างกัน
เพราะท่านนายกฯพยายามเร่งให้การเจรจาได้ข้อสรุปภายในปี 2549
ในขณะที่ รมต.ที่รับผิดชอบเคยกล่าวว่า จะยังไม่มีการตกลงใด
ๆ หากประเทศไม่ได้รับผลประโยชน์ที่ดี
ซึ่งนโยบายนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐด้วย
ผมเกิดคำถามว่า เหตุใดนายกฯจึงเร่งการเจรจาให้เสร็จโดยเร็ว
ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาขาดความรอบคอบ หรือว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในข้อตกลง
ผมเกรงว่าจะเกิดการล้วงลูกในกระบวนการเจรจาเอฟทีเอ ทำให้คนไทยไม่ได้รับประโยชน์
แต่ผลประโยชน์ตกเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม ผมขอเสนอให้มีการร่าง พ.ร.บ.
กระบวนการพิจารณาการเปิดการค้าเสรี
ที่กำหนดขั้นตอน กระบวนการการพิจารณาการเปิดการค้าเสรีอย่างรอบคอบ
มีการศึกษาผลกระทบอย่างครบถ้วน ประชาชนมีส่วนในการแสดงความเห็นอย่างรอบด้าน
และให้สภาฯ ได้มีส่วนพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ
รวมถึงการจัดกลไกชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
เพื่อเป็นกลไกป้องกันการแทรกแซงจากผู้ที่จะแสวงหาประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า