Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

รถไฟฟ้า 10 สาย : นโยบายประชานิยมรอบใหม่คนกทม.
Ten MRT routes :  New populist policy to rattle the public

 

13 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

นโยบายรถไฟฟ้า 10 สาย เปลี่ยนรถเมล์ร้อนเป็นรถแอร์ หวังปลุกผีประชานิยมกลบกระแสรัฐบาลถังแตก แต่ขาดการศึกษาผลกระทบ ระวังสร้างหนี้ ขูดภาษีประชาชน

รัฐบาลประกาศสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โดยจะเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกันประกวดราคา ทั้งนี้ยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมคือ 5.5 แสนล้าน นอกจากนี้ในปี 49 ยังมีแผนเปลี่ยนรถเมล์ร้อนให้เป็นรถแอร์ใหม่ทั้งหมด 4,000 คัน โดยจะทยอยปรับเปลี่ยนให้ได้ภายใน 1 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าโดยสารจะยังเท่าเดิม

ผมสงสัยว่าการประกาศนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ จะทำได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงสร้างกระแสความนิยมที่ตกต่ำให้ดีขึ้นและแก้ภาพลักษณ์รัฐบาลเรื่องถังแตกเท่านั้น แต่หากรัฐบาลตั้งใจจะทำจริง ๆ รัฐบาลได้บอกให้ประชาชนทราบแล้วหรือไม่ว่า การลงทุนในโครงการดังกล่าวจะนำงบประมาณมาจากแหล่งใด ใครเป็นผู้จ่ายเงินส่วนนี้ และมีผลกระทบอย่างไร

คนกรุงเทพฯคาดหวังให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนตามที่สัญญาไว้ แต่ที่ผ่านมาความนิยมของรัฐบาลตกต่ำลงมาก เนื่องจากพฤติกรรมที่ขัดใจคนกรุงฯ ไม่ว่าจะเป็น การลดเส้นทางรถไฟฟ้า จาก 7 สายเป็น 4 สาย ขัดขวางการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS และล่าสุดการออกตั๋วเงินคลัง ซึ่งแสดงความไม่มั่นใจต่อฐานะการคลังของรัฐบาล

รัฐบาลจึงเร่งประกาศนโยบายประชานิยมรอบใหม่ คือการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 10 เส้นทาง และเปลี่ยนรถเมล์ร้อนเป็นรถเมล์ติดแอร์ โดยหวังจะกลบกระแสรัฐบาลถังแตก

       อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทางจริงๆ เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของรัฐบาลได้พิสูจน์ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีความชัดเจนตลอดจนไม่ได้ทำการศึกษาและวางแผนเรื่องนี้มาก่อน สังเกตจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายอยู่บ่อยครั้ง ผมคาดว่าแนวโน้มรัฐบาลคงจะมีการปรับแผนกันอีกหลายรอบอย่างแน่นอน

       สำหรับการเปลี่ยนรถเมล์ในกรุงเทพฯให้ติดแอร์ทุกคัน แต่เก็บค่าโดยสารเท่าเดิม แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้เพราะใช้งบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป แต่ก่อนที่จะประกาศนโยบายนี้ รัฐบาลได้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายนี้แล้วหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลทราบอยู่แล้วว่า ขสมก.ประสบปัญหาขาดทุนและมีภาระหนี้จำนวนมากอยู่แล้ว การที่รัฐบาลจะนำรถปรับอากาศซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามาให้บริการ แต่การเก็บค่าโดยสารเท่าเดิม ยิ่งจะไปซ้ำเติมให้ ขสมก.เป็นหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก หรือทำให้รัฐมีภาระต้องจัดงบประมาณอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลต้องเป็นหนี้มากขึ้นและประชาชนต้องถูกเก็บภาษีมากขึ้น

       ผมอยากเสนอแนะว่า หากนโยบายยังขาดผลการศึกษารองรับหรือรัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลไม่ควรประกาศต่อสาธารณะ การทำเช่นนี้แม้จะได้รับความนิยมในระยะสั้น แต่เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถทำตามคำสัญญาหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยครั้ง ในที่สุดประชาชนจะไม่เชื่อถือคำพูดของรัฐบาลอีกต่อไป