เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่ผมเป็นประธาน ได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 8
กันยายน ที่ผ่านมา
โดยมีการพิจารณาประเด็น การกำหนดราคาพลังงานในประเทศไทย
ผมได้เรียนเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ มาชี้แจง รวมทั้งได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยสวัสดิ์
อัมระนันทน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งในด้านพลังงาน มาร่วมประชุมด้วย
ที่ประชุมได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันของไทยหลายประเด็น
ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อมูลและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ยิ่ง
และควรที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง
ประเด็นแรก
ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลกเป็นหลัก
แม้ในตลาดทุกแห่งมีการเก็งกำไรเป็นปกติ เช่นเดียวกับตลาดซื้อขายน้ำมัน แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเก็งกำไรของกองทุนประกันความเสี่ยง หรือ
hedge fund
เพราะมูลค่าการถือสัญญาสุทธิของ
hedge fund
มีอยู่ไม่มาก
จึงไม่น่าจะแทรกแซงราคาน้ำมันในตลาดโลกได้
ข้อมูลดังกล่าวทำให้ผมเข้าใจว่า แท้ที่จริง การที่รัฐบาลพยายามให้ข้อมูลว่า
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเก็งกำไร
จึงไม่ถูกต้อง
และไม่ว่าด้วยความไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ของรัฐบาล การที่รัฐบาลได้ไปร่วมมือกับสิงคโปร์และญี่ปุ่นในการต่อสู้กับการเก็งกำไรของ
hedge fund
จึงเป็นมาตรการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการลดราคาน้ำมัน
แต่น่าจะเป็นไปเพื่อสร้างภาพเท่านั้น
ประเด็นที่สอง รัฐบาลพยายามแทรกแซงราคาน้ำมัน
สังเกตได้จากกระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณไม่ให้บริษัทน้ำมันเอกชนขึ้นราคา
ทั้งที่ราคาน้ำมันเป็นระบบลอยตัวแล้ว และการที่ ปตท.ไม่ขึ้นราคาน้ำมัน
แต่กลับยอมให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซินติดลบ แล้วนำกำไรจากกิจการอื่นของ ปตท.มากลบขาดทุนของธุรกิจปั๊มน้ำมัน
มาตรการเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดแล้ว ยังจะทำให้บริษัทค้าปลีกน้ำมันรายย่อยอยู่ไม่ได้
เพราะเมื่อปั๊ม ปตท.ไม่ขึ้นราคาน้ำมัน
ปั๊มอื่น ๆ จึงไม่กล้าขึ้นราคาน้ำมันด้วย เพราะเกรงว่าจะขายน้ำมันไม่ได้
ในที่สุดตลาดค้าปลีกน้ำมันจะถูกผูกขาดโดย ปตท.
เพราะปั๊มรายอื่นจะขาดทุนจนต้องเลิกกิจการไป
พฤติกรรมเช่นนี้จะสร้างความยากลำบากแก่กองทุนน้ำมัน
เนื่องจากกองทุน กำลังจะออกพันธบัตร เพื่อนำเงินมาชำระหนี้กว่า 8
หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากการอุดหนุนราคาน้ำมัน และแม้รัฐบาลยืนยันว่าจะให้เก็บเงินเข้ากองทุน
1.50 บาทต่อลิตร
เป็นเวลา
5
ปี เพื่อชำระหนี้ได้ทั้งหมด
แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังสูงขึ้น
มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลชุดนี้จะเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว
เพราะเกรงจะสูญเสียคะแนนนิยมทางการเมือง ซึ่งจะทำให้กองทุนมีต้นทุนสูงขึ้นในการออกพันธบัตร
เพราะประชาชนเกรงว่ากองทุนฯจะไม่มีรายได้มาชำระหนี้
หรือในอีกกรณีหนึ่ง
คือรัฐบาลอาจจะต้องนำงบประมาณไปใช้หนี้แทนกองทุนฯในที่สุด
ด้วยเหตุนี้
นโยบายราคาน้ำมันจึงเป็นนโยบายที่ควรช่วยกันตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด
|