Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

“ครึ่งปีหลัง รัฐบาลควรเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ”
Thailand’s economic policy for the next half year:
should the Government revise its attitudes?

 

13 สิงหาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก     

เศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ชะลอตัว มีปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อสูง ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากท่าทีการดำเนินนโยบายของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลยังคงมีท่าทีแบบเดิมต่อไปในครึ่งปีหลัง ประชาชนอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น

ที่ผ่านมารัฐบาลมีท่าทีในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร ?


รัฐบาลให้ความสำคัญกับเป้าหมายการขยายตัวเพียงเป้าหมายเดียว
สังเกตได้จากรัฐบาลมักยืนยันเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลไม่ได้เน้นเป้าหมายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากนัก รัฐบาลพยายามใช้มาตรการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดงบประมาณ การขึ้นค่าตอบแทนบุคลากร การทุ่มลงทุนในเมกะโปรเจกต์ เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มและการขาดดุลฯมากขึ้นอีก

รัฐบาลมักส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องให้กับประชาชน
สังเกตได้จาก เมื่อภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสแรก และหน่วยงานภาคเอกชนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 48 จะต่ำกว่า 5% แต่รัฐบาลยังคงยืนยันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะสูงกว่า 5% จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับการคาดการณ์เหลือ 3.5-4.5% รัฐบาลจึงยอมรับและปรับเป้าหมายให้เหลือเพียง 4% หรือการที่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ราคาสินค้าจะไม่เพิ่มขึ้นหลังการใช้มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น และยืนยันตัวเลขเงินเฟ้อตลอดปี 48 ที่ 3.8% แต่ต่อมาตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% จึงทำให้กระทรวงพาณิชย์จึงยอมปรับเป้าเงินเฟ้อปี 48 เป็น 3.8-4.2%

การส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้อง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยามากกว่าการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง อาจสร้างปัญหามากกว่าที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่รัฐบาลยังคงใช้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 4.5 –5.5% เป็นสมมติฐานในการจัดทำงบประมาณปี 49 อาจจะทำให้การจัดเก็บงบประมาณไม่ถึงเป้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการอาจจะขยายการลงทุน ตามการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินอาจขยายสินเชื่อ โดยที่เศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวตามที่รัฐบาลยืนยันไว้ ทำให้ผู้ประกอบการประสบภาวะลงทุนมากเกินไป ทำให้ขาดทุนหรือเป็นหนี้มากขึ้น สถาบันการเงินต้องประสบกับปัญหา NPL มากขึ้น เพราะปล่อยสินเชื่อมากเกินไป

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก การบริหารนโยบายเศรษฐกิจ จึงต้องเน้นเป้าหมายที่ถูกต้อง ต้องดำเนินนโยบายอย่างสมดุล และยืดหยุ่น มีการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยมีหลักวิชาการรองรับและส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง และสำคัญที่สุด คือ แรงจูงใจหลักที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง มิใช่เน้นการรักษาความเชื่อมั่นทางการเมืองเท่านั้น