Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

บรรจุกิจกรรมรับน้องในหลักสูตรการศึกษา
The Reception of Students to the Academy

 

 

13  มิถุนายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก              

การจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษาจากแต่ละสถาบันอุดมศึกษาเป็นข่าวเกรียวกราว สะท้อนปัญหาและสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงให้เห็นเป็นประจำทุกปี ถึงกระนั้นยังมีข้อถกเถียงแยกออกเป็นสองฝ่ายอยู่เสมอ คือฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยว่ากิจกรรมรับน้องยังมีข้อดีหลายประการ และควรธำรงรักษาไว้ต่อไป ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นว่ากิจกรรมรับน้องที่จัดกันอยู่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่เพิ่งเอ็นทรานซ์เข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษาแต่อย่างไร

หากพิจารณาในแง่ของกิจกรรม การรับน้องนับว่าช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กวัยนี้ ได้มีโอกาสที่จะแสดงออกและปลดปล่อยพลังของตนออกมา ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม แต่ในส่วนของความคิดและอารมณ์นั้น วัยนี้ยังขาดการยับยั้งชั่งใจที่ดีพอ ในขณะเดียวกันยังเป็นวัยที่มีความจงรักภักดีในกลุ่มพวกพ้องของตน กลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่จึงมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเด็กวัยนี้อย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับโครงการวิจัย การประมวลสถานการณ์ ปัญหาเด็กในมิติทางวัฒนธรรมฯ โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่กล่าวว่าเด็กไทยชอบความเสี่ยง มีความกล้า รักสนุก ทำให้กิจกรรมรับน้องเกิดขึ้นมาแล้วสามารถอยู่ได้นาน

ผมมองว่าเราสามารถทำให้ประเพณีการรับน้องอยู่ในร่องในรอยได้  สำคัญอยู่ที่หลักคิด ซึ่งผมเสนอว่า เราควรจะให้เสรีภาพแก่เด็กในการทำกิจกรรมตามที่เขาต้องการ โดยไม่นำกรอบความคิดของผู้ใหญ่ไปครอบไว้ แต่ในขณะเดียวกันต้องมีมาตรการทำให้เขามีความรับผิดชอบควบคู่ไปกับการกระทำด้วย คือหากทำไม่ดี ย่อมต้องรับโทษที่มีน้ำหนักมากเพียงพอให้คนทำผิดไม่กล้าและไม่เสี่ยงที่จะทำผิด นั่นคือการให้ทั้งเสรีภาพและความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วยกัน และควรเป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันและดักปัญหาไว้ล่วงหน้าด้วย

มาตรการที่พูดถึงนี้คือ การนำกิจกรรมรับน้องเข้าไปสู่ระบบหน่วยกิต เป็นการนำระบบที่มีอยู่แล้วมาใช้ควบคุมความประพฤติของนิสิต
นักศึกษาในกิจกรรมรับน้องโดย

การเพิ่มวิชากิจกรรมรับน้องไว้ในหลักสูตรสำหรับรุ่นพี่ โดยอยู่ภายใต้หลักสูตรที่ใช้อยู่แล้ว แต่มีความสำคัญมากพอที่จะควบคุมนิสิต
นักศึกษาได้ คือนิสิตนักศึกษาทุกคนก่อนสำเร็จการศึกษาจะต้องได้รับเกรดในวิชานี้ อย่างน้อยที่ระดับ
C
หากรุ่นพี่คนใดไม่ประสงค์จะจัดกิจกรรมรับน้อง ยังมีทางเลือกในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ของสถาบัน โดยรับการประเมินเกรดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้รุ่นพี่ที่ลงทะเบียนวิชาดังกล่าวต้องร่วมกันนำเสนอแผนงานต่ออาจารย์ประจำวิชาหรืออาจารย์กิจการนิสิตนักศึกษา เพื่อให้อาจารย์ประเมิน รับรองและมีส่วนร่วมสอดส่องดูแลการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสมต่อไป อีกทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมเช่น เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรม การเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ ทรัพยากรแก่กิจกรรมที่จัดขึ้น

การให้รุ่นน้องมีส่วนร่วมให้คะแนนรุ่นพี่ กล่าวคือ รุ่นน้องปีหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง เป็นผู้ร่วมให้คะแนนรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องอิทธิพลของรุ่นพี่ต่อรุ่นน้องได้ เพราะมีการคานอำนาจโดยให้รุ่นน้องมีส่วนให้คะแนนรุ่นพี่ได้อย่างมีพลัง เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์กิจการนิสิตนักศึกษาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ แบบประเมินการให้คะแนนรุ่นพี่ และให้รุ่นน้องร่วมประเมิน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการตัดเกรดโดยอาจารย์เจ้าของวิชา แบบทดสอบดังกล่าวควรวัดการจัดกิจกรรมที่สะท้อนเหตุผลเบื้อหลังของการจัดกิจกรรมรับน้อง ทั้งในแง่ของการให้รุ่นน้องได้รู้จักกันและกัน มีความสามัคคีในหมู่คณะ รู้จักกฎระเบียบของการอยู่ร่วมกัน ตลอดจนกิจกรรมนั้นต้องทำให้รุ่นพี่ได้รับการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ และสามารถรวมรุ่นพี่รุ่นน้องให้รู้จักกันและกันมากขึ้น การให้คะแนนดังที่กล่าวมาจึงส่งผลให้รุ่นพี่ต้องคิดดำเนินกิจกรรมให้สามารถสื่อความหมายที่ดี เพื่อสร้างความประทับใจแก่รุ่นน้อง และยังคงหลักการเบื้องหลังของการจัดกิจกรรมการรับน้องได้อย่างครบถ้วน

การถกเถียงในประเด็นว่า การรับน้องควรจะมีต่อไปหรือไม่ กิจกรรมใดดีหรือไม่ดี มีวิธีควบคุมหรือป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เสี่ยง เสียหาย หรือไม่ถูกต้องได้อย่างไร ฯลฯ  คงเป็นการยากที่จะหาข้อสรุปได้ลงตัวในประเด็นคำถามทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือ วิธีคิดในการหาทางออกที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของทั้งสองฝ่าย และตอบปัญหาข้อข้องใจหรือข้อถกเถียงในประเด็นปัญหาการรับน้องให้กับสังคมได้มากถึงระดับหนึ่ง โดยไม่ได้ใช้วิธีการแบบ “คุณพ่อรู้ดี” ในการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นสูตรสำเร็จในทุกเรื่อง

 

 



-------------------------------