Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


 

รับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ = ประชาพิจารณ์ ?
Is hearing website comments equal to a Public Hearing?

 

12  กรกฎาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                     

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง ซึ่งรัฐบาลดึงออกมาจากโครงการโมเดิร์นไนเซชั่นเพื่อมาดำเนินการก่อนนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่รับผิดชอบโครงการถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงิน ได้นำร่างเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายมาประกาศไว้บนเว็บไซต์ www.mrta.co.th และ www.otp.go.th เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะจากสาธารณชน ระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อนำความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคาต่อไป

การรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงว่า ไม่ได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างเพียงพอ

การที่ รฟม.ได้จัดทำการรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านเว็บไซต์ หรือที่สื่อสารมวลชนบางส่วนเสนอข่าวว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ดีในการฟังเสียงประชาชน แต่รูปแบบการรับฟังความเห็นเช่นนี้ไม่เพียงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นการประชาพิจารณ์

เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการรับฟังความเห็น แม้ว่าผู้ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีจำนวนถึง 6 ล้านคน แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เนื่องด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตใช้ มีค่าใช้จ่ายในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือไม่มีทักษะในการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้แม้แต่นักเรียนใน กทม.ยังมีปัญหาในการเข้าตรวจสอบข้อมูลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (O-net และ A-net) ที่ประกาศทางอินเทอร์เน็ต แล้วประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงกระบวนการรับฟังความเห็นครั้งนี้ได้อย่างไร

เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ทราบช่องทางการรับฟังความเห็น  ถึงแม้ว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล แต่ไม่มีหลักประกันว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการรถไฟฟ้าได้ทราบว่า รฟม.ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ ยิ่งไปกว่านั้น ระยะเวลาของการเปิดรับฟังความเห็นยังสั้นมาก กล่าวคือมีการเปิดรับความคิดเห็นเพียง 5 วันเท่านั้น และยังมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นครั้งนี้น้อยมาก โอกาสที่ประชาชนจะทราบว่ามีการรับฟังความเห็นดังกล่าวจึงเป็นไปได้น้อยมาก

เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของโครงการอย่างถ่องแท้ เอกสารที่ รฟม.เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เป็นเอกสารประกวดราคา (TOR) ที่มีเนื้อหาเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก เหมาะสำหรับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รับเหมาที่ต้องการเข้าแข่งขันเพื่อประมูลโครงการ ไม่ใช่เอกสารที่จัดเตรียมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้ ซึ่งควรเป็นเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่ายและตรงไปตรงมา โดยมีการสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับผลประโยชน์และผลกระทบของโครงการต่อประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรเปิดช่องให้มีการถาม-ตอบ เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทางด้วย

ถึงแม้ว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่ดูเหมือนประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการ และการเปิดเผยเอกสารการประกวดราคาเป็นมาตรการที่ควรดำเนินการ แต่การเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล และอาจมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก

ผมจึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ทำประชาพิจารณ์ในรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลมีบทเรียนมาแล้วจากการทำประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์ ในการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการสุวรรณภูมิมหานคร แต่กลับไม่เรียนรู้บทเรียนนี้และเดินตามเส้นทางที่ผิดพลาดซ้ำอีก

 



-------------------------------