Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

จากการที่ผมได้เคยกล่าวถึงในเรื่องการรับทราบผลการดำเนินงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ไตรมาส 4 / 2546 ซึ่งเป็นวาระหนึ่งในการประชุมสภาฯ ที่ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจาก การประชุมในวันนั้นได้เกินเวลาไปมาก อย่างไรก็ตามการเลื่อนวาระนี้ออกไปทำให้ผมได้มีเวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ในการที่จะแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ ในวันพฤหัสที่ 11 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะมีการประชุมในวาระนี้อีกครั้งหนึ่ง

ในคราวที่แล้วผมได้พูดถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติของ บสท.ที่เลือกช่วยเหลือลูกหนี้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ละเลยภาคเกษตร ทั้ง ๆ ที่มี NPL ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในครั้งนี้ผมอยากจะพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพ และการให้ผลตอบแทนของ บสท.

จากการที่ผมได้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าการดำเนินงานของ บสท.ที่ผ่านมายังขาดประสิทธิภาพ สามารถเคลื่อนย้าย NPL ออกจากสถาบันการเงินตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้น้อยมาก และให้ผลตอบแทนต่อส่วนรวมน้อย เพราะ หนี้ที่โอนมา บสท.มีมูลค่าเพียงร้อยละ 30 ของ NPL ทั้งระบบ ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ต่างประเทศ เช่น IBRA อินโดฯ ร้อยละ 90.4 KAMCO เกาหลี ร้อยละ 85 Danaharta มาเลเซีย ร้อยละ 91.6 ประกอบกับสินทรัพย์ที่โอนมา บสท.ส่วนใหญ่เป็น NPL ของสถาบันการเงินรัฐร้อยละ 81.03 NPL ของสถาบันการเงินเอกชนเพียงร้อยละ 18.97 ซึ่งเป็น เพราะ บสท.กำหนดราคารับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่ำเกินไป ไม่จูงใจสถาบันการเงินเอกชนให้ยอมขายสินทรัพย์ให้แก่ บสท.

นอกจากนี้ถ้าพิจารณาผลตอบแทนจากการดำเนินการของบสท. ในปี 2546 พบว่า อัตราการได้รับชำระคืนทั้งในรูปเงินสดและที่ไม่ใช่เงินสด (Total recovery rate) เทียบกับมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่บริหารจนได้ข้อยุติของบสท.ต่ำมาก เมื่อเทียบกับ AMC ของต่างประเทศ เช่น Danaharta มาเลเซีย อยู่ที่ร้อยละ 58.41 KAMCO เกาหลีใต้ ร้อยละ 47.81 ขณะที่บสท.อยู่ที่ร้อยละ 36.59 และหากเทียบกับAMC ในประเทศ พบว่า บสท.มีอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เพียง ร้อยละ 0.01 ขณะที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ร้อยละ18.95 และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ร้อยละ 2.86

ผมเสนอว่าเพื่อแก้ไขปัญหา NPL อีกเกือบ 6 แสนล้านบาทที่เหลืออยู่ในระบบสถาบันการเงิน นอกจากบสท.ควรกำหนดหลักเกณฑ์และจำแนกลูกหนี้ตามขนาด ประเภทธุรกิจ เพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าควรช่วยลูกหนี้ประเภทใดก่อน ตามที่เคยเสนอไปแล้ว บสท.ยังควรปรับวิธีการกำหนดราคารับโอน NPL โดยกำหนดราคาที่เป็นธรรม (fair value) ร่วมกับราคาตามมูลค่าหลักทรัพย์ เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินเอกชน ขาย NPL ให้ บสท. มากขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการทำงานของ บสท. เพื่อให้ปัญหา NPL ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงด้วย