Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ตลาดมืดกับการควบคุมราคาน้ำตาลทราย
The black market and sugar price control policy

 

12 มกราคม 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เมื่อคนทั่วไปนึกถึงตลาดมืด มักจะนึกถึงการขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด สิ่งลามก หรือสินค้าหนีภาษี ซึ่งต้องขายกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ จะขายแต่ละทีก็ต้องขายในที่ลับตาคน หรือมิฉะนั้นก็กระซิบกระซาบชักชวนผู้ซื้อหน้าละอ่อนให้เข้ามา ซึ่งวิชาเรียกการแลกเปลี่ยนสินค้าเหล่านี้ว่าเศรษฐกิจใต้ดิน หรือ “underground economic”

แต่คำว่า “ตลาดมืด” หรือ “black market” ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์มีความหมายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้จะมีวิธีการซื้อขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ ก็ตาม แต่ตลาดมืดคือภาวะที่มีการซื้อขายสินค้าในราคาสูงกว่าที่รัฐกำหนดไว้ การกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายแม้ว่าตัวสินค้าจะถูกกฎหมายก็ตาม

ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดตลาดมืดก็คือ การที่รัฐตั้งเพดานราคาไว้นั่นเอง เนื่องจากเพดานราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นซึ่งเป็นราคาที่ทำให้สินค้ามีอยู่ในตลาดพอดี ไม่ล้นหรือขาดตลาด ซึ่งเศรษฐศาสตร์เรียกราคานี้ว่า “ราคาดุลยภาพ” และการที่ราคาต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นนี้ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรือ “อุปสงค์” มีมากกว่าปริมาณความต้องการขายหรือ “อุปทาน” จึงเกิดภาวะสินค้าขาดตลาด และเนื่องจากสินค้ามีอยู่น้อยก็เลยทำให้ผู้ซื้อซึ่งต้องการสินค้านี้แย่งกันซื้อสินค้าจนยอมซื้อสินค้าที่ราคาสูงกว่าที่รัฐกำหนด
ที่สำคัญคือราคาที่ซื้อในตลาดมืดนี้มีราคาสูงกว่าราคาเดิมที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำไป จากมุมมองนี้ เป็นไปได้ว่ามาตรการควบคุมราคาที่รัฐหวังดี อยากให้ประชาชนบริโภคของถูกกลับกลายเป็นผลเสียต่อประชาชนเอง

การวิเคราะห์นี้ไม่ได้ยกเว้นสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ปัจจุบันรัฐบาลตรึงราคาน้ำตาลทรายไว้ที่ 14.25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ความจริงแล้วเหล่ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว จำต้องซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานในราคาที่จำเป็นต้องขายราคาปลีก 17-20 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งมีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้อ้างถึงขนาดว่ายี่ปั๊ว ซาปั๊วที่จะรับน้ำตาลทรายไปขายต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่โรงงานน้ำตาลทรายด้วย จึงจะรับน้ำตาลทรายไปขายส่งได้

ราคาจริงที่สูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดนี้สะท้อนถึง “ตลาดมืด” จากการควบคุมราคาน้ำตาลทราย โดยกำหนดเพดานราคาไว้ที่ 14.25 บาท

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ทั้งโรงงานและผู้ขายส่งน้ำตาลทรายมีการกักตุนน้ำตาลไว้อีกจำนวนมาก ทำให้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดตลาดรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งการกักตุนสินค้าสะท้อนถึงว่าพ่อค้าเหล่านี้คาดการณ์รัฐบาลจะไม่สามารถ

ตรึงราคาได้ และราคาน้ำตาลทรายจะต้องสูงขึ้นอีกแน่นอนในอนาคตอันใกล้ และแน่นอนว่ารัฐบาลไม่มีทางที่จะจับกุมการกักตุนน้ำตาลทรายได้ได้หมด

ดังนั้น แม้จะยังไม่ถึงเวลาลอยตัวราคาน้ำตาลทราย แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐควรฟังข้อเสนอของ กนอ. ในการปรับเพดานราคาน้ำตาลทรายขึ้นมาเป็น “ราคาที่ควรจะเป็น” (ซึ่งอาจไม่สูงเท่าที่โรงงานน้ำตาลทรายเสนอ) เพื่อขจัดตลาดมืดจากการราคาขายจริงที่สูงกว่าเพดานราคา
และที่สำคัญคือ การปรับราคาน้ำตาลทรายครั้งนี้จะต้องเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงขาขึ้นของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าราคาน้ำตาลทรายจะมีเสถียรภาพ ไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นอีก อันเป็นการทำให้พ่อค้าและโรงงานยุติการกักตุน เพื่อจะทำให้ภาวการณ์ขาดแคลนน้ำตาลทรายนี้สิ้นสุดลงเสียที