Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

กำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอย่างไร..จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ?
How to gain the most benefit from the minimum wage fixation

 

11 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

จากที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติเป็นเอกฉันท์ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกวันละ 1-5 บาทใน 36 จังหวัด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ใช้แรงงานทุกท่าน อย่างไรก็ตามยังคงมีกระแสเรียกร้องขอความเป็นธรรมอยู่บ้างในบางจังหวัดที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นค่าจ้าง

แนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการนั้น เป็นการพิจารณาที่ให้ความสำคัญเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก แต่ปราศจากการพิจารณาปัจจัยและผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบด้านและสมดุล ทั้ง ๆ ที่การขึ้นค่าจ้างแรงงานมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม อาทิ อัตราการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ การปรับค่าจ้างครั้งนี้อาจไม่ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

ผมเสนอว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบและแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้การพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และต่อแรงงานมากที่สุด โดยผมขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้

สร้างแบบจำลองเพื่อคำนวณผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่ชัดเจนและมีความแตกต่างกัน คณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดใช้ข้อมูลในการพิจารณาไม่เหมือนกัน โดยบางจังหวัดมีข้อมูลมากถึง 16 แหล่งข้อมูล แต่บางจังหวัดใช้ข้อมูลน้อยมากเพียง 1 แหล่งข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างชัดเจน และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อไม่ต้องใช้การเจรจาต่อรองหรือใช้ความรู้สึกในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

ด้วยเหตุที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลต่อทุกภาคการผลิตและมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคด้วย ผมจึงเสนอว่า ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานควรจัดทำแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างต่อเศรษฐกิจมหภาค และจัดทำแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินผลดี-ผลเสียของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยมีผลการศึกษาวิเคราะห์รองรับและมีความเป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือไม่ต้องใช้ดุลพินิจหรืออำนาจต่อรองของภาคีต่าง ๆ แต่เกิดจากการคำนวณบนฐานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และข้อมูลจริงทางเศรษฐกิจ

พิจารณาค่าจ้างจากข้อมูลเศรษฐกิจรายอำเภอ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำควรให้ความสำคัญกับการเก็บรวบรวมข้อมูลลงรายละเอียดมากกว่ารายจังหวัด โดยอาจแยกย่อยเป็นรายอำเภอ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ในจังหวัดเดียวกันอาจมีค่าครองชีพที่แตกต่างกัน การกำหนดให้ค่าจ้างแรงงานเท่ากันทั้งจังหวัดจึงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่

กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจำแนกรายอุตสาหกรรม เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันหมดทุกอุตสาหกรรม ไม่ทำให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม (Fair wage) เพราะแรงงานแต่ละอุตสาหกรรมมีผลิตภาพแตกต่างกัน และในสภาพเศรษฐกิจ ณ เวลาหนึ่ง ๆ อุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีการขยายตัวและชะลอตัวแตกต่างกัน การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจึงควรพิจารณาจากผลิตภาพของแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม หากแรงงานบางส่วนที่มีผลิตภาพต่ำมากจนไม่สามารถได้รับค่าจ้างสูงเท่ากับระดับมาตรฐานการครองชีพ ในระยะสั้นรัฐอาจจะกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่เพียงพอแก่การดำรงชีพ แต่ในระยะยาว รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามผลิตภาพของแรงงานซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานการดำรงชีพขั้นต่ำ รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่บิดเบือนกลไกตลาด
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีเป้าหมายเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ที่เพียงพอแก่การดำรงชีพสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ แต่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและต่อแรงงานส่วนหนึ่งด้วย รวมทั้งอาจทำให้แรงงานไร้ฝีมือขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะของตนเอง ดังนั้นการพิจารณาประเด็นนี้จึงควรกลับไปวิพากษ์ระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ มีวิธีการอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ ที่จะทำให้แรงงานไร้ฝีมือมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน อย่างไรก็ตาม หากการศึกษาพบว่าระบบค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย รัฐยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบนี้ให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับแรงงานแต่ละกลุ่มมากขึ้น