Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ข้อสังเกตเกี่ยวกับ FTA ไทย – ญี่ปุ่น
Thai-Japanese FTA : Which observations shall we monitor? 

 

11 สิงหาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก     

จากที่ผมวิเคราะห์ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าไทย – ญี่ปุ่นว่า ท่าทีของญี่ปุ่น ในการตกลง FTA ครั้งนี้ เป็นเพียงการที่ญี่ปุ่นต้องการจองพื้นที่ไว้เท่านั้น ในวันนี้ผมขอวิเคราะห์ข้อตกลงการเจรจา FTA ไทย - ญี่ปุ่น ต่อจากเมื่อวาน กล่าวคือ          

ข้อตกลงการเจรจายังมีอุปสรรคในภาคปฏิบัติ ดูเหมือนว่า
ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวบางรายการ และเปิดเสรีสินค้าเกษตรหลายรายการ แต่การส่งออกในภาคปฏิบัติยังติดปัญหามาก อาทิ ความเข้มงวดเรื่องสุขอนามัยของสินค้าเกษตรและประมง อุปสรรคเกี่ยวกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งยังไม่มีการเจรจาเกี่ยวกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าในสินค้าหลายรายการ

ข้อตกลงขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาล
โดยเฉพาะนโยบายการเป็น Detroit of Asia หากไทยยอมเปิดเสรียานยนต์และชิ้นส่วนกับญี่ปุ่น และ ขัดแย้งกับนโยบายประหยัดพลังงาน เพราะในปี 2547 รัฐบาลไทยขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อลดการใช้น้ำมัน แต่ข้อตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่นกลับส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขนาดใหญ่
มากขึ้น เพราะราคารถยนต์ขนาดใหญ่จะลดลงมาก ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ขนาดกลางหันไปใช้รถยนต์ขนาดใหญ่มากขึ้น           

ข้อตกลงสร้างความเสี่ยงที่จะขาดดุลการค้ามากขึ้น
หากสังเกตกลุ่มสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ จะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรบางส่วน และอุตสาหกรรมเบา และกลุ่มสินค้าที่ญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์ คือ ยานยนต์และเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนัก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ไทยขาดดุลต่อญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจาก สินค้าเกษตรมีมูลค่าต่อหน่วยต่ำ แต่สินค้าอุตสาหกรรมหนักมีมูลค่าต่อหน่วยสูงมาก ไทยจะต้องส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นเป็นปริมาณมาก จึงจะได้ดุลการค้าต่อญี่ปุ่น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก ๆ ของไทย ยังไม่มีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นจะเปิดเสรี

ดังนั้นการเจรจา
FTA กับประเทศญี่ปุ่น ควรมีการศึกษาการเปิดเสรีทางการค้าอย่างรอบคอบ ครบถ้วน ก่อนการเจรจาต้องศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดกลยุทธ์การเจรจาอย่างรอบคอบและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาว่าอุตสาหกรรมใดที่เป็นจุดแกร่งของไทยจริง ๆ มีการศึกษาฉากทัศน์ต่าง ๆ ของการเจรจา เพื่อให้สามารถปรับท่าทีการเจรจาอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องมีการศึกษาข้อมูลของประเทศคู่เจรจาอย่างรอบคอบ พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง เพื่อการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าไทยจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างแท้จริง