Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


พึ่งทูตสร้างธรรมาภิบาลไทย
Invite Diplomatic Corps to Help Create Good Governance in Thailand 

 

11 มีนาคม 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

จากการประชุมคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาเมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมามีการพิจารณาสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างชาติ โดยเชิญสภาหอการค้านานาชาติ จำนวน 10 ประเทศมาร่วมแสดงความคิดเห็น และในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2549 คณะกรรมาธิการชุดเดียวกันจะเชิญทูตทุกประเทศที่ประจำประเทศไทยมาร่วมหารือสถานการณ์การเมืองของไทย

ในโอกาสนี้ผมจึงขอเรียกร้องต่อทูตทุกประเทศและหอการค้านานาชาติที่มีหน่วยงานที่สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ช่วยผลักดันเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะทำให้กระบวนการประมูลและการดำเนินการที่มีธรรมาภิบาล (Good Governance)

ด้วยเหตุที่เงื่อนไขการประมูลนานาชาติของรัฐบาลเต็มไปด้วยความน่าสงสัยและเคลือบแคลงใจ เพราะเงื่อนไขมีเพียงอย่างเดียว คือไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ประกอบกับสภาวะปัจจุบันของประเทศมีความไม่แน่นอน กลไกตรวจสอบต่าง ๆ ของประเทศไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศในการสร้างธรรมาภิบาลให้กับการลงทุน โดยผมขอเสนอความร่วมมือ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ผลักดันให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาโครงการเมกะโปรเจ็กต์ โดยเลือกคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ และมีนักการเมืองในคณะกรรมการ ทั้งที่ไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผู้กำหนดนโยบายกับผู้นำนโยบายมาปฏิบัติควรเป็นคนละกลุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ประการที่สอง ผลักดันให้บริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลเมกะโปรเจกต์ต้องไม่มีนักการเมือง ญาติใกล้ชิดนัก

การเมือง หรือตัวแทน (นอมินี) ของนักการเมืองถือหุ้นในบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูล เพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ประการที่สาม ผลักดันให้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับกระทำผิดของนักการเมืองให้ไม่มีการหมดอายุความ โดยเฉพาะคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)พิจารณาที่ปกติมีอายุความระหว่าง 5-15 ปี เป็นไม่มีการหมดอายุความแทน

ประการที่สี่ ผลักดันให้กรมสอบสวนพิเศษตรวจสอบทรัพย์สินคณะกรรมการทุกคนที่มีส่วนในการพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนในเมกะโปรเจกต์ เพื่อป้องกันปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนให้คณะกรรมการที่อาจเป็นตัวแทนนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาเพื่อให้ผู้ลงทุนบางรายได้ประโยชน์ หรือป้องกันการที่กรรมการใช้อำนาจในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน

ประการที่ห้า ผลักดันให้รัฐบาลต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการอย่างละเอียด และเปิดเผยทีโออาร์หรือข้อกำหนดโครงการของทุกหน่วยงานที่ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมการประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก่อนพิจารณาคัดเลือกโครงการนั้น เพื่อให้ประชาชนร่วมพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขว่าจะไม่กำหนดข้อกำหนดโครงการ ทำให้มีข้อสงสัยว่าหากแผนโครงการของแต่ละบริษัทมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน รัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไรเลือกแผนของผู้เสนอโครงการ

ประการที่หก ผลักดันให้การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็นไปอย่างเปิดเผย โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจสามารถร่วมฟังการประชุม และต้องเปิดเผยบันทึกการประชุมและความเห็นที่คณะกรรมการแต่ละท่านแสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วน ตลอดจนมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการด้วย

เงื่อนไขทั้งหกประการเป็นเพียงเงื่อนไขเบื้องต้นที่อยากให้ทูตทุกประเทศช่วยผลักดันเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการลงทุน ซึ่งไม่เพียงประโยชน์จะเกิดกับประเทศไทยเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาด้วย