Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ปราบโกงไม่สำเร็จหากไร้แผนงานและองค์กรอิสระ
Corruption can not be eliminated unless there is a plan
and independent organizations

 

11 มกราคม 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2549 ท่านนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง นายกฯ ได้กล่าวถึงปัญหาคอร์รัปชัน โดยขู่ว่าได้ตั้งสายสืบลงไปตรวจสอบดูท้องถิ่นหลายพื้นที่ รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย เพื่อสอดส่องการกระทำอะไรที่ไม่เหมาะสม พร้อมย้ำว่าปี 2549-2551 การปราบคอร์รัปชันจะดุ จะมีการกวดขันเป็นพิเศษ

นับเป็นสิ่งที่ดีที่เห็นรัฐบาลเริ่มให้ความสนใจการปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ผมเกรงว่าการตั้งท่าจะปราบปรามคอร์รัปชันครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเช่นที่ล้มเหลวตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

รัฐบาลขาดแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน การปราบคอร์รัปชันครั้งนี้อาจจะล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศแผนการทำงานในการปราบปรามคอร์รัปชันในภาพรวมที่ชัดเจน จึงอาจเป็นเพียงการขู่ว่าได้ตั้งทีมลงไปตรวจสอบ และกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละท้องถิ่นให้สอดส่องดูแลกันเองเท่านั้น หากรัฐบาลยังไม่กำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว จะทำผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทำการปราบปรามคอร์รัปชันได้ลำบาก เพราะยังไม่รู้ทิศทางการปราบปรามว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ หากวิเคราะห์คำขู่ของนายกฯเป็นเพียงการแก้ปัญหาทุจริตในกลุ่มข้าราชการเท่านั้น ยังไม่ได้แก้ไขทั้งระบบ เพราะไม่ได้กล่าวถึงการคอร์รัปชันของนักการเมืองเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาที่รุนแรงมากกว่าสำหรับรัฐบาลชุดนี้

ผมได้เคยร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ในฐานะคณะทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลนี้ในสมัยแรก ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายแวดวง และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการเอาชนะสงครามทุจริตคอร์รัปชันสำหรับประเทศไทย ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2546-2550) เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งแนวคิดส่วนหนึ่งที่ผมเสนอในคณะทำงานดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ใน หนังสือ “กลเม็ดเด็ดปีกคอร์รัปชัน” ที่ผมได้เขียนขึ้นด้วย แต่กระนั้นรัฐบาลกลับไม่ได้ใส่ใจนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้จัดทำแผนใด ๆ ขึ้นมาแทนที่เพื่อนำไปปฏิบัติด้วย

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ปัจจุบันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต เช่น คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังประสบปัญหาภายใน ขณะนี้ สตง. ยังมีกรณีการสรรหาผู้ว่า สตง. ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนกรณีของ ป.ป.ช. ซึ่งทางประธานวุฒิสภา (ส.ว.) ได้นำรายชื่อ 9 รายชื่อขึ้นทูลเกล้าเมื่อปลายปี 2548 แต่คาดว่าคงจะประสบปัญหาตามมาภายหลังอย่างแน่นอน เพราะการคัดเลือก ป.ป.ช.ทั้ง 9 นั้นได้คัดเลือกโดยมีการท้วงติงว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เลือกจากรายชื่อ 18 คน แต่วุฒิสภาได้เลือกจากรายชื่อเพียง 17 คน อีกทั้งผู้ที่ได้รับการเลือกบางคนยังมีปัญหาในเรื่องขาดคุณสมบัติไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า และคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. บางคนยังมีคดีค้างอยู่ใน ป.ป.ช. อีกด้วย

ปัญหาคอร์รัปชันคงยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไขได้ยากอีกต่อไป หากรัฐบาลยังไม่มีการกำหนดแผนการทำงานที่ชัดเจน ประกอบกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังประสบปัญหาภายในอยู่ ประชาชนยิ่งจะคาดหวังรัฐบาลมากขึ้นว่าจะทำหน้าที่ในการปราบปรามปัญหาคอร์รัปชันให้ประสบความสำเร็จ จึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะอาศัยเพียงการขู่ว่าจะทำ แล้วปัญหาคอร์รัปชันจะแก้ไขสำเร็จ