Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

หนี้พุ่ง เงินคงคลังหด รายได้เพิ่ม
หลักฐานชัด รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว
Treasury Crisis

 

10 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เงินคงคลังวิกฤต เหตุรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว เป็นหนี้ตั๋วเงินคลังคงค้างกว่า 9.8 หมื่นล้าน เงินคงคลังหายไป 1.1 แสนล้าน จี้รัฐบาลชี้แจงกับประชาชนเงิน 1.1 แสนล้าน หายไปไหน
 
การที่รัฐบาลออกตั๋วเงินคลัง สะท้อนว่าอาจเกิดวิกฤตเงินคงคลัง ซึ่งเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้ หนี้ตั๋วเงินคลังเพิ่มขึ้น แต่เงินคงคลังกลับลดลง ในความเป็นจริง รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวสะสมเรื้อรังมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 1 แล้ว เห็นได้จากหลักฐานการใช้เงินคลังที่ขัดแย้งกับการที่รัฐบาลอ้างว่าจัดงบประมาณแบบสมดุล เพราะในอดีตรัฐบาลออกตั๋วเงินคลังแต่ยังไม่ใช้คืนหนี้เป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่โดยปกติตั๋วเงินคลังจะใช้คืนในระยะเวลาอันสั้น เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน ดังนั้นหากดูข้อมูลย้อนหลัง หนี้ตั๋วเงินคลังโดยสุทธิกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 (2544) จนถึงปัจจุบัน ออกตั๋วเงินคลังรวมกันแล้ว 4.8 แสนล้าน แต่ใช้หนี้ตั๋วเงินคลังคืนเพียง 3.8 แสนล้าน แสดงว่าหนี้ตั๋วเงินคลังที่ยังไม่ได้ใช้คืนเป็นหนี้สะสม 9.8 หมื่นล้าน”

เงินคงคลังตอนต้นรัฐบาลทักษิณ 1 มีประมาณ 5 หมื่นล้าน และเมื่อกู้ตั๋วเงินคลังเข้ามาเพิ่มสุทธิ 9.8 หมื่นล้าน ดังนั้นเวลานี้ควรจะมีเงินคงคลังอยู่ประมาณ 1.5 แสนล้าน แต่ขณะนี้กลับมี 3.6 หมื่นล้านเท่านั้น คำถามคือเงินคงคลังหายไปไหน 1.12 แสนล้าน ในการนี้รัฐบาลไม่ได้นำเงินคงคลังไปลดหนี้สาธารณะเพราะหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และรัฐบาลไม่ได้ใช้เงินคงคลังไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลทักษิณ 1-2 ใช้เงินคงคลังไปในรายจ่ายที่เกินความจำเป็น หากรัฐบาลใช้จ่ายอย่างมีวินัย ตอนนี้ควรมีเงินคงคลังอย่างน้อย 1.5 แสนล้าน แต่กลับมีเงินคงคลังเหลือเพียง 3.6 หมื่นล้าน ทำให้ต้องออกตั๋วเงินคลังเพิ่ม และหากกู้มาใส่เพิ่ม 8 หมื่นล้านตามตัวเลขของรัฐบาล จะมีเงินคงคลังเพียง 1.16 แสนล้าน ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวมาเป็นเวลานานแล้ว

รัฐบาลออกตั๋วเงินคลังในภาวะที่รัฐบาลอ้างว่าจัดเก็บรายได้เกินเป้า หากพิจารณาข้อมูลในอดีต เงินคงคลังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดโดยไม่ต้องออกตั๋วเงินคลัง เงินคงคลังเคยสูงถึง 3 แสนกว่าล้าน จนกระทั่งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องใช้เงินคงคลังมาชดเชยการขาดดุลบางส่วน ซึ่งไม่ใช่การใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้นการที่รัฐบาลจะอ้างว่ารัฐบาลก่อน ๆ ออกตั๋วเงินคลังเหมือนกันนั้น ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากสภาพการณ์ต่างกัน ปัจจุบันรัฐบาลบอกมาตลอดว่าเศรษฐกิจดี เก็บรายได้เกินเป้า แต่ทำไมต้องออกตั๋วเงินคลัง แสดงว่ารัฐบาลใช้จ่ายเกินตัวใช่หรือไม่ เป็นไปได้ว่า ณ ตอนนี้ รัฐบาลเริ่มเก็บรายได้ไม่ถึงเป้า เนื่องจากประมาณการเศรษฐกิจปี 49 ในขณะนี้ ต่ำกว่าช่วงที่จัดทำงบประมาณค่อนข้างมาก ขณะนั้นประมาณไว้ว่าจีดีพีจะเติบโต 5.5%-6.5%

อันที่จริง ถ้ามีหนี้ตั๋วเงินคลังคงค้าง เงินคงคลังควรโตขึ้นตามจำนวนหนี้ตั๋วเงินคลังคงค้าง แต่ที่เป็นอยู่คือ เงินคงคลังกลับลดลง ขณะที่รัฐบาลบอกว่าจัดเก็บรายได้เกินเป้า ดังนั้นจึงอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากว่า รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว ทั้งนี้เปรียบเทียบกับภาพของครอบครัว โดยให้หนี้ตั๋วเงินคลังคือหนี้ เงินคงคลังคือเงินออม การจัดเก็บภาษีคือรายได้ และงบประมาณรายจ่ายคือรายจ่าย ภาวะที่ครอบครัวเป็นหนี้มากขึ้น แต่เงินออมลดลง ทั้งที่รายได้สูงขึ้น ย่อมเกิดจากการที่ครอบครัวใช้จ่ายมากเกินไปนั่นเอง

สรุปว่า รัฐบาลควรใช้จ่ายอย่างประหยัด ทบทวนหรือลดรายจ่ายในโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ ปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เปิดช่องโหว่ให้มีการใช้จ่ายอย่างไม่รัดกุม หรือไม่รอบคอบ