Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

ไอทีวี… ละครฉากใหญ่ที่เปิดเผยธาตุแท้รัฐบาล
ITV….A Big  Drama  to Reveal the Real Government


 

10  พฤษภาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก 

สืบเนื่องจากการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ร้องต่อศาลปกครองในกรณีสัมปทานไอทีวี  ศาลปกครอง (9 พฤษภาคม 2549) ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำตัดสินอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 กรณีให้ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าสัมปทานปีละ 230 ล้านบาท จากที่ต้องจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งเพิกถอนคำตัดสินที่ให้ไอทีวีปรับลดสัดส่วนนำเสนอรายการข่าวสารสาระต่อรายการบันเทิง จากเดิม 70:30 เป็น 50:50

หากพิจารณาถึงความเป็นมาของข้อพิพาทระหว่างรัฐกับไอทีวีแล้ว คำตัดสินของศาลปกครองที่มีผลให้เกิดการทวงคืนผลประโยชน์ของประชาชนจากเอกชนในครั้งนี้ จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตของผมว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจต่อการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากน้อยเพียงใด ทั้งที่ท่าทีของรัฐบาลภายหลังจากที่มีคำตัดสินจากอนุญาโตตุลาการให้ สปน. แพ้ไอทีวีเมื่อปี 2547 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาลทักษิณ 1 ไม่ได้เร่งรีบในการเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์กลับคืนมาสู่รัฐ แม้จะมีกระแสกดดันจากมวลชนเร่งให้รัฐดำเนินการกับความเสียหายในครั้งนี้ โดยเห็นได้จากพฤติกรรมในขณะนั้นคือ

การเลือกปฏิบัติ สังเกตได้จากผู้นำรัฐบาลมีท่าทีไม่แข็งกร้าวต่อความเสียหายของรัฐที่เกิดจากกรณีไอทีวี ซึ่งแตกต่างจากกรณีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท ที่นายกฯ แสดงท่าทีขึงขังในการปกป้องผลประโยชน์ให้กับรัฐ โดยพยายามระดมทีมกฎหมายหาช่องยื่นอุทธรณ์เพื่อที่จะไม่จ่ายค่าโง่ดังกล่าวภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ขณะที่ สปน.ใช้เวลาถึง 3 เดือนกว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ทั้งที่ประกาศว่าจะยื่นคำร้องภายใน 1 เดือน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำถามว่า การที่ สปน.ฟ้องไอทีวีนั้นทำเพื่อลดกระแสความไม่พอใจของสังคมซึ่งอาจจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงความนิยมในรัฐบาลไทยรักไทย หรือมีความตั้งใจจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

การเจรจาต่อรองที่ส่อแววว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เพียงแต่การฟ้องร้องดำเนินไปอย่างล่าช้า แต่รัฐบาลยังมีความพยายามในการเปิดช่องให้ไอทีวีละเมิดสัญญา โดยขยายช่วงเวลาไพรม์ไทม์ จากเดิมที่ตกลงไว้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลา 19.00 - 21.30. เปลี่ยนเป็น 18.00 - 23.00. รวมทั้งปรับผังรายการจากเดิมที่ช่วงไพรม์ไทม์จะต้องเป็นรายการข่าวเท่านั้น เปลี่ยนเป็น ให้มีรายการบันเทิงรวมอยู่ในช่วงนี้ด้วย โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 ที่กำหนดให้ออกอากาศรายการเยาวชนเด็กและครอบครัวในช่วงไพรม์ไทม์เวลา 18.00-23.00 . มาสร้างความชอบธรรมให้กับการปรับผังของไอทีวี  พฤติกรรมในขณะนั้นจึงมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย เป็นเสมือนละครฉากใหญ่ที่หลอกลวงประชาชน ไม่ผิดกับคำวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ที่มีเสียงครหาถึงการสมรู้ร่วมคิดแบบแยบยล บ่งชี้ถึงความน่าสงสัยว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะกิจการไอทีวีในขณะนั้นคือ หนึ่งในเครือของชินคอร์ปซึ่งยังเป็นของตระกูลชินวัตร

วันนี้คำตัดสินของศาลปกครองที่ให้สำนักนายกฯ เป็นผู้มีชัย อาจไม่ใช่การสิ้นสุดของกรณีพิพาท แต่เป็นการ     แสดงให้เห็นธาตุแท้ของรัฐบาลที่ยอมให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เมื่อตนเองไม่ได้มีผลประโยชน์ในกิจการนั้น ๆ แล้ว ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอตั้งคำถามให้ทุกท่านช่วยกับขบคิดว่า หากขณะนี้ ไอทีวียังคงเป็นกิจการของคนในรัฐบาลแล้ว ละครเรื่องนี้จะดำเนินไปเช่นไร  อาจจะมีใครที่เล่นบทบาทเป็น “มือที่มองไม่เห็น” แทรกแซงการทำงาน เพื่อประโยชน์ของตนเองที่มักจะมาก่อนผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่



-------------------------------