Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


 ทักษิณกับฮวน เปรอง
Taksin & Juan Peron

 

10 มีนาคม 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

คนไทยเรามีสำนวนเพื่อสอนลูกหลานว่า “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เพื่อสอนให้เด็กเชื่อฟังและเรียนรู้จากผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์มาก่อน

การศึกษาประวัติศาสตร์แท้จริงแล้วจึงมีคุณค่า เราสามารถจะเข้าใจปัจจุบัน และพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้จากประวัติศาสตร์

ผมจึงอยากนำเสนอการเปรียบเทียบรัฐบาลทักษิณ กับรัฐบาลของประเทศอาเจนตินาในอดีต คือ รัฐบาลของฮวน เปรอง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมในปัจจุบันของผู้นำของไทยมากขึ้น รวมทั้งรู้ชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยในอนาคต

ฮวน เปรอง ขึ้นสู่อำนาจเป็นประธานาธิบดีแห่งอาร์เจนตินา ในปี ค.. 1946 หรือ พ.. 2489

นโยบายของฮวน เปรอง นับว่าเป็นนโยบายที่ “คิดใหม่ ทำใหม่” ในยุคนั้น ประเทศอาร์เจนตินาต่างจากประเทศอื่นที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพวกเมติโซ (Metizo) หรือ พวกลูกครึ่งสเปน-อินเดียนแดง เหมือนอย่างประเทศในลาตินอเมริกาประเทศอื่น แต่เป็นชาวสเปนซึ่งนับว่าเป็นชาติที่มีวินัยรองลงมาจากชาวแองโกลแซกซอน (Anglo-Saxon) เช่น ชาวอังกฤษหรืออเมริกัน นโยบายทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในยุคก่อนเปรองจึงค่อนข้างจะรักษาวินัยทางการเงินและการคลัง

การคิดใหม่ ทำใหม่ของฮวน เปรอง (ซึ่งร่วมคิดกับเอวา เปรอง) เป็นนโยบายที่นักวิชาการเรียกว่า “นโยบายประชานิยม” เน้นการแจกโดยตรง เช่น ให้ที่ดินทำกิน ขึ้นค่าจ้างแรงงาน เพิ่มสวัสดิการทางสังคม ฯลฯ ซึ่งโดนใจประชาชนระดับรากหญ้าอย่างยิ่ง จนทำให้ประชาชนอาร์เจนตินาในสมัยนั้นรักประธานาธิบดีของเขาอย่างมาก โดยไม่มีใครรู้เลยว่าอีกหลายปีต่อมา ขนมที่ได้รับแจกจากเปรองนั้น จะเป็นพิษและทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา

มิใช่เพียงเท่านั้น ผลที่ตามมาจากนโยบายประชานิยมของเปรอง ยังส่งผลระยะยาวถึงพฤติกรรมของชาวอาร์เจนตินา ที่เริ่มขาดวินัยทางการเงิน และมีความเป็นบริโภคนิยมมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้อาจอธิบายด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับ “ปัญหาคุณธรรมวิบัติ” (moral hazard) อันเป็นปรากฏการณ์ที่คนมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงมากขึ้นจากการที่มีผู้แบกรับความเสี่ยงให้แก่เขา ซึ่งอธิบายได้ว่าประชาชนเกิดความคาดหวังว่า รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายหนี้แทนให้ หรือแม้แต่ไม่มีเงิน รัฐบาลจะเติมเงินให้ ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมากขึ้น

การที่รัฐบาลของเปรองทำให้ประชาชนได้บริโภคมากขึ้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ที่มาของเงินเหล่านั้น เพราะเมื่อรัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อแจกประชาชนมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการขาดดุลการคลังมากขึ้น การขาดดุลการคลังนำมาซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า เป็นสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ และทำให้รัฐบาลต้องขายรัฐวิสาหกิจ และเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและครอบครองสินทรัพย์และกิจการในประเทศจนแทบหมดสิ้น

นอกจากปัญหาในเชิงเศรษฐกิจมหภาคแล้ว ยังมีผลกระทบในระดับปัจเจกชนตามมาอีกมากมาย โดยสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคได้ว่า ผู้บริโภคจะมีพฤติกรรม “จมไม่ลง” แม้มีรายได้ลดลง ดังนั้นประชาชนอาร์เจนตินาซึ่ง “ติด” การรับเงินจากรัฐบาลเปรองแล้ว เมื่อรัฐบาล “ถังแตก” จนไม่มีเงินแจกอีกต่อไปแล้ว ประชาชนอาร์เจนตินาจึงปรับตัวรับสภาพนี้ไม่ทัน ทำให้ประชาชนใช้จ่ายมากกว่ารายได้ จนเกิดเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนในที่สุด

เมื่อหันมามองประเทศไทย รัฐบาลทักษิณเลือกเดินเส้นทางนโยบายประชานิยมเหมือนกับรัฐบาลเปรอง โดยผลิตโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะกระตุ้นการบริโภคและเอาใจประชาชน ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนมากที่เลือกพรรคไทยรักไทย จนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายและครองเสียงข้างมากถึง 3 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎร เหมือนกับที่ชาวอาร์เจนตินาเลือกพรรคของประธาธิบดีเปรองถึง 2 ใน 3 ของสภาฯ

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤต เหมือนที่อาร์เจนตินาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่การใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างฟุ่มเฟือย เริ่มส่งเค้าลางของปัญหาทางการคลังที่น่าเป็นห่วงแล้ว อาทิ การลดลงของเงินคงคลัง การขยายวงเงินกู้ตั๋วเงินคลัง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ รัฐบาลจึงพยายามรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้มาใช้จ่ายในโครงการประชานิยมต่อไปได้ โดยใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การรีบเร่งเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศด้วยมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้กรรมสิทธิ์การครอบครองที่ดิน การถือครองหุ้น เป็นต้น

หากรัฐบาลทักษิณยังคงบริหารประเทศด้วยแนวนโยบายเช่นนี้ อีกไม่นานผลลัพธ์จากนโยบายประชานิยม คงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอาร์เจนตินาอย่างไม่ต้องสงสัย