จากกระแสตอบรับการขยายตัวของระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ
e-learning ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและความสะดวกให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามจัดหลักสูตร e-learning
เอง หรือสร้างเครือข่ายร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหรือกับหน่วยงานอื่น เช่น
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber Uniniversity: TCU)
ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
โดยจะเริ่มเปิดสอนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549
อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวงเรื่อง
หลักเกณฑ์การขอเปิดและดำเนินการหลักสูตรระดับปริญญาในระบบการศึกษาทางไกล พ.ศ.
2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2548 เป็นต้นมา
เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาแบบ e-learning
ให้ได้คุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น
หากแต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไม่ควรละเลยคือ การพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ
ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของการจัดการศึกษาแบบ
E-learning
โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อเป็นช่องทางขยายโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการอุดมศึกษามากขึ้นไม่ว่าจะเป็น
การสร้างซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา
คือ
การสร้างโปรแกรมเพื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดข้อมูลไปยังผู้เรียนกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น
เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการเรียนรู้ให้กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น เช่น
ซอฟต์แวร์แปลภาษา หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อกลุ่มคนพิการ เป็นต้น
การสร้างโมดูลทางการศึกษา
คือการให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาข้ามมหาวิทยาลัยที่ตนสนใจได้ เช่น
สามารถเลือกเรียนวิชาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
และเลือกเรียนวิชาการตัดแต่งพันธุกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเซต
(MIT) ไปพร้อมกัน
การเลือกวิชาเรียนตามความต้องการของผู้เรียนนี้ ทำได้โดยการสร้างโปรแกรมจัดวิชา
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาที่เหมาะสมสอดคล้องตามความต้องการและความสนใจของตน
อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบสหวิทยาการจากการบูรณาการวิชาที่เด่นของหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งไปพร้อมกันได้
การพัฒนาการวิจัยทางการศึกษา
โดยใช้ระบบสารสนเทศสร้างระบบการจัดการข้อมูลที่ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง
ๆ จากทั่วประเทศและโลกไว้ โดยมีช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชา การความคิดเห็น
รวมถึงการขยายความร่วมมือทางวิชาการไปทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์ หรือไอคอนถามตอบ
ทำให้เกิด ปฎิสัมพันธ์ระหว่างฐานข้อมูลและผู้ใช้ที่สะดวก
รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาทักษะการเรียนรู้
การส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้
เพื่อนำทักษะเหล่านั้นไปใช้ในสภาพจริง เช่น การสร้างห้องเรียน/ห้องทดลองเสมือนจริง
การสร้างภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง เพื่อให้ผู้เรียนทดลองทำโดยไม่ต้องลองสนามจริง
โดยเป็นการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาแทนในสภาพแวดล้อมที่มีอันตรายและความเสี่ยงสูง
และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติจริง