Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

มิติที่ถูกละเลยในระบบแอดมิชชั่น
Neglected Dimensions of the University Admissions System

 


 

9  พฤษภาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก 

การสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยภายใต้ระบบแอดมิชชั่นที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้   เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยรักไทยและผู้เกี่ยวข้องจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นผลอันเกิดจากการบริหาร
นโยบายด้านการศึกษาที่ผิดพลาดของรัฐบาล ดังที่ผมได้กล่าวไว้ในจดหมายฉบับก่อนหน้านี้

แม้ว่าการสอบคัดเลือกในระบบ “แอดมิชชั่น” จะมีหลักการที่ดี โดยหวังว่าเพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนไม่เครียดจนเกินไป เหมือนการสอบเอนทรานซ์ระบบเดิมที่เด็กมุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างหนัก แต่ไม่สนใจต่อระบบการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเงื่อนไขว่าระบบดังกล่าวจะต้องผ่านการคิดวิจัยมาแล้วอย่างรอบคอบ รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้น จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กนักเรียนได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ระบบแอดมิชชั่นที่รัฐบาลนำมาใช้นี้ยังไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดในการคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย  เนื่องจากการวัดผลและคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ยังขาดมิติที่สำคัญอีกหลายด้าน โดยเฉพาะการวัดเป้าหมายแรงจูงใจของผู้ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในคณะที่ตนได้เลือก และการวัดด้านคุณธรรมจริยธรรม

ผมจึงขอเสนอว่า ระบบแอดมิชชั่นควรเพิ่มเติมการทดสอบที่ครอบคลุมไปถึงมิติดังกล่าวด้วยการวัดมิติด้านแรงจูงใจในการเลือกคณะหรือภาควิชาที่ตนสนใจ อาทิ วิธีการให้ผู้เข้าสอบเขียนเรียงความถึงเหตุผลในการเลือกคณะหรือสาขาวิชาที่ตนได้เลือกไว้ในการสอบว่า ปรารถนาที่จะเรียนต่อในคณะต่าง ๆ เพราะอะไร เพื่ออะไร และเมื่อเรียนจบแล้วจะนำความรู้ดังกล่าวมาทำประโยชน์ต่อประเทศชาติในแง่มุมใด หรือการกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายในการศึกษาและการทำงานในอนาคต ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่อาจวัดเป้าหมายแรงจูงใจในการเรียนได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าสอบได้มีโอกาสใคร่ครวญเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเลือกสาขาวิชาของตนอีกด้วย

การวัดมิติด้านคุณธรรมจริยธรรม ผมได้เคยเสนอแนวคิดในการเก็บบันทึกการทำความดีที่บันทึกประวัติการทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อจูงใจให้นักเรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของตนเอง โดยนำเอาข้อมูลจากบันทึกการทำความดีมาเป็นคะแนนส่วนหนึ่งในการคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างคะแนนความดีกับความรู้ นอกจากนี้ยังอาจมีการพิจารณาจดหมายรับรอง (Recommendation) จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่นักเรียนเคยไปทำงานหรือเป็นอาสาสมัคร เพื่อทราบข้อมูลถึงความถนัด ความสนใจ ลักษณะนิสัยการทำงานของนักเรียนได้ในอีกทางหนึ่ง

ระบบการสอบคัดเลือกที่วัดผลเพียงด้านเดียวที่ความสามารถทางวิชาการ แต่ปราศจากการวัดมิติด้านแรงจูงใจและมิติคุณธรรม อาจทำให้ประเทศได้คนที่ฉลาดแต่ขาดคุณธรรมและขาดเป้าหมายชีวิต ซึ่งย่อมจะเป็นผลเสียต่อประเทศชาติในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย



-------------------------------