Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


รถไฟฟ้า 10 สาย นโยบายที่ห่างยังไกลความจริง
Ten MRT routes : An unacceptable far-fetched policy

 

8 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

รถไฟฟ้า 10 สายห่างไกลความจริง เพราะไม่มีความชัดเจนเรื่องงบประมาณ และรูปแบบการก่อสร้าง

นายกรัฐมนตรีประกาศจะให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาร่วมประมูลประกวดราคาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า 10 สายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกำหนดวงเงินก่อสร้างประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้นายกฯ ได้กล่าวผ่านรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ถึงแนวคิดที่จะเอายางพาราแลกรถไฟฟ้า และในวันที่ 14 ธ.ค. 2548 จะเชิญทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยมาฟังแนวทางที่รัฐบาลจะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยให้รัฐมนตรีและผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจมาร่วมพูดคุยเพื่อตอบคำถามเป็นเรื่อง ๆ จากนั้นจะพาบริษัทและตัวแทนของประเทศเข้ามาฟังรายละเอียดอีกครั้ง และจะเสนอให้บริษัทต่างชาติยื่นข้อเสนอต่าง ๆ เช่น เรื่องรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง 9 เส้นทาง หรือ 10 เส้นทาง

จากแนวทางดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายก่อสร้างรถไฟฟ้าที่รัฐบาลประกาศตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องใด ๆ เลย

ความไม่ชัดเจนในเรื่องงบประมาณการก่อสร้าง การที่รัฐบาลให้แนวทางการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยการกรีดยางเพื่อแลกเปลี่ยนกับรถไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลา 20 ปีหลังจากที่รถไฟฟ้าสร้างเสร็จ แนวคิดนี้แสดงว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณก่อสร้างจริง ๆ จึงต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้า และเงิน 5.5 แสนล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่มาก หากจะใช้เพียงการแลกสินค้าคงไม่เพียงพออย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจ 5 ชาติ คือ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าได้ปฏิเสธว่า วิธีการนี้ไม่น่าเป็นไปได้

สิ่งที่น่าคิด คือ หากต่างประเทศไม่ยอมใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้า รัฐบาลจะนำงบประมาณมาจากไหน และหากต้องการแลกยางกับรถไฟฟ้า ประเทศที่นำเข้ายางจากไทยมากที่สุดคือจีน แต่คำถามคือประเทศจีนจะมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดีที่สุดได้อย่างไร ในเมื่อจีนเพิ่งจะมีรถไฟฟ้าก่อนหน้าประเทศไทยไม่กี่ปีเท่านั้น

ความไม่ชัดเจนในรูปแบบการก่อสร้าง การที่รัฐบาลประกาศว่าในวันที่ 14 ธ.ค.2548 จะมีการเชิญทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยมาเพื่อปรึกษาหารือนั้น สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องรูปแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพราะยังต้องใช้เวลาหาข้อสรุป โดยต้องดูข้อเสนอว่าในแต่ละเส้นทางการก่อสร้างจะทำในรูปแบบใด เช่น ควรจะเป็นโมโนเรล (Monorail) ไลท์เรล (Light Rail) เฮฟวี่เรล (Heavy Rail) หรือควรจะเป็นบีอาร์ที (Bus Rapid Transport - BRT)

สิ่งที่น่าคิด คือ รัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่าควรจะก่อสร้างรถไฟฟ้ารูปแบบใด และการเลือกลงทุนตามข้อเสนอของต่างชาติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่และคุ้มค่าที่สุดหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของต่างชาติ และการตัดสินใจจะมีความโปร่งใสหรือไม่ นอกจากนี้เมื่อรูปแบบการก่อสร้างยังไม่ชัดเจนเลย โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการและก่อสร้างเสร็จได้เมื่อไร

ความไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในโครงการว่าจะสำเร็จหรือไม่ และหากต่างประเทศไม่ยอมใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้ารัฐบาลจะทำอย่างไร จะมีงบประมาณมาจากไหน อีกทั้งยังไม่ชัดเจนเลยว่ารูปแบบการก่อสร้างจะทำอย่างไร แล้วประชาชนจะมีหวังที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าเมื่อใด