Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

จีดีพี 4.5% : ไม่น่าราบรื่นหรือเป็นไปตามเป้าหมาย
4.5%GDP : According to Plan or Not Quite So Smooth?

 

 

8  มิถุนายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก              

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2549 ว่า ปี 2549 จะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2548 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณร้อยละ 2.0 ของ GDP ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.2 ต่อปี

ผมคิดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการประเมินของ สศค.ไม่ได้อยู่บนสมมติฐานที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

สศค.ระบุว่า เงื่อนไขของการขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นสำคัญ เป้าหมายคือได้เปรียบดุลการค้า แต่หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ จะพบว่ายังไม่มีตัวแปรที่ส่งเสริมให้ตัวเลขการส่งออกของประเทศขยายตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงยากที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าก็ไม่ง่ายอย่างที่หวังเอาไว้

ประการแรก ราคาน้ำมันดิบต่ำเกินไป การตั้งสมมติฐานของ สศค.ที่กำหนดให้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 63.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลนั้น อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นการประมาณที่ต่ำเกินไป เพราะราคาน้ำมันดิบดูไบที่ซื้อขายจริงในเดือนพฤษภาคมวิ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 68.10 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นที่เรียบร้อยซึ่งเกินกว่าราคาที่สมมติฐานอยู่พอสมควร คาดว่าราคาจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปอีก หากปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านไม่ได้รับการคลี่คลาย

ประการต่อมา การประเมินการขายตัวของประเทศคู่ค้าอาจสูงเกินไป เนื่องปัจจัยความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัวได้ต่ำกว่าสมมติฐาน ซึ่ง สศค.กำหนดให้เศรษฐกิจของ 11 ประเทศคู่ค้าขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งประเด็นนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนว่าจากวิกฤตราคาน้ำมันจะทำให้เศรษฐกิจของโลกมีปัญหาการเติบโต ประกอบกับสหรัฐฯ ผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยประสบกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในที่สุด

ทั้งนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาย้ำอีกว่าหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงประมาณร้อยละ 0.1-0.15 และจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยในระยะครึ่งหลังของปี 2549

ประการที่สาม การลงทุนชะลอตัวลง เนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอิทธิพลของอัตราดอกเบี้ยโลกที่สูงขึ้น ทั้งนี้จากคำแถลงของประธานเฟดและตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดมองว่าเฟดอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งอาจจะสูงกว่าที่คาดไว้ในเวลานี้ โดยอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะสูงขึ้นได้ถึง ร้อยละ 5.5 ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับตัวขึ้นตาม ทำให้การลงทุนหดตัวลง และจะส่งผลกระทบต่อ GDP ในที่สุด

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ชัดว่าดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เดือนเมษายน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ดัชนีความความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลงเช่นกัน โดยลดลงเกือบทุกองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม โดยค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ประการสุดท้าย ปัจจัยลบที่ไม่ได้อยู่ในสมมติฐานของ สศค.คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง วันที่ 15 ตุลาคม ศกนี้ แต่ยังมีปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไข เช่น การชุมนุมจากกลุ่มต่าง ๆ  ปัญหาความน่าเชื่อถือของ กกต. และปัญหาการฟ้องร้องพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็ก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศปีนี้น่าจะไม่ราบรื่นเป็นไปตามเป้าหมาย

  



-------------------------------