เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
แผนการของรัฐบาลในการแปรรูป กฟผ.
เข้าตลาดหลักทรัพย์ กำลังเดินหน้าไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่าย ๆ
แม้ว่ายังขาดการเตรียมพร้อมในด้านกฎกติกาและกลไกต่าง ๆ ในกิจการไฟฟ้าของประเทศก็ตาม
สิ่งที่ผมพยายามมาตลอดคือการเตือนรัฐบาลให้ใจเย็น ๆ ในการแปรรูป กฟผ.
ขอให้พิจารณารายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ผมเห็นว่ายังพอมีความเป็นไปได้
ที่จะทำให้การปรับปรุงของ กฟผ.มีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของหลักเกณฑ์ในการกระจายหุ้น กฟผ.
สู่ภาคเอกชนและประชาชนทั่วประเทศนั้น
ผมคิดว่ารัฐบาลควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนก่อนใน 10 ประการ ดังต่อไปนี้ครับ
1) รัฐควรเร่งออกกฎหมายกำกับกิจการไฟฟ้าและจัดตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า
ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศ
องค์กรอิสระนี้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
2) แยกกิจการผูกขาดออกจากกิจการที่มีการแข่งขัน
โดยปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ แยกแยะทรัพยสินและกิจการที่ผูกขาดออกจากกิจการที่สามารถให้มีการแข่งขันกันได้
กล่าวคือระบบส่งของ กฟผ. และระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ.
ควรให้รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง
ส่วนระบบผลิตและกิจการค้าปลีกควรเปิดให้แข่งขันอย่างเสรี
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและลดการลงทุนของภาครัฐ ส่วนกิจการการผลิตบางส่วน ได้แก่
โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ควรแยกออกจาก กฟผ.
เพราะมีทรัพย์สินที่เป็นของแผ่นดิน
3) ขจัดเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ.ผูกขาด ได้แก่
การได้รับสิทธิเพียงรายเดียวในการเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ
จากกระทรวงการคลัง รวมทั้งยกเลิกเงื่อนไขที่ให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าร้อยละ 50
ของความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นใหม่
ควรปล่อยให้ผู้ที่ผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นผู้ผลิต
ซึ่งส่งผลให้ราคาถูกลงตามต้นทุนที่ต่ำลง
4) แตก กฟผ. ออกเป็นหลายบริษัท เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในระบบผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
5) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการถือหุ้นไขว้ในธุรกิจไฟฟ้า
เพื่อสร้างข้อจำกัดสำหรับกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจในการครอบครองหุ้นของกิจการไฟฟ้า
อันจะนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
และป้องกันการร่วมมือกันของกิจการค้าปลีกไฟฟ้าในการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
6) ยกเลิกเกณฑ์การประกันผลตอบแทนการลงทุน (ROIC)
เพื่อทำให้กิจการไฟฟ้าที่กระจายหุ้นให้เอกชนและประชาชนไปแล้ว
ต้องพัฒนาประสิทธิภาพของตนเอง โดยรัฐไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง
7) ยกเลิกเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ.ต้องรับซื้อก๊าซจาก ปตท.แต่เพียงรายเดียว
เพื่อยกเลิกการผูกขาดของ ปตท.ที่มีต่อ กฟผ. ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ
มีต้นทุนการซื้อเชื้อเพลิงที่ต่ำลง เพราะเป็นไปตามกลไกตลาด และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้
8) สร้างหลักประกันความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายตั้งสำรองไฟฟ้า
เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และทำให้เกิดความเป็นธรรมกับ กฟผ.
ที่ต้องแบกภาระสำรองไฟเพียงหน่วยงานเดียว
โดยกำหนดให้บริษัทเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าทุกแห่งตั้งสำรองไฟฟ้าด้วย
เช่นเดียวกับการที่ธนาคารกลางกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรอง
9) อนุญาตให้รัฐมีอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการไฟฟ้า
ในกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ
รวมทั้งให้สิทธิรัฐในการซื้อคืนกิจการพลังงานจากเอกชนในราคาตลาด
10) จัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
เพื่อดึงกำไรของกิจการไฟฟ้ามาลงทุนขยายโครงข่ายกิจการไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกล
และจ่ายค่าไฟฟ้าสาธารณะ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านระบบไฟฟ้าของประเทศ
ผมอยากเห็นรัฐบาลชะลอการนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้น โดยพิจารณาเงื่อนไขอย่างรอบครอบ
เพราะเรื่องแบบนี้ ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ครับ
|