Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจะสร้างอภิมหาโครงการช้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง ความยาว 291 กิโลเมตร ล่าสุดรัฐบาลยังมีแนวคิดในการจัดตั้งซูเปอร์คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีทั้งศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ โรงแรมหรูหรา ห้างสรรพสินค้า และที่อยู่อาศัยในบริเวณที่รถไฟฟ้าแล่นผ่าน อีกทั้งยังเตรียมการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลแห่งใหม่ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ระดมทุน วางแผนการก่อสร้าง ให้สัมปทาน และบริหารจัดการโครงการเหล่านี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมิถุนายนศกนี้

ผมคิดว่าการที่รัฐบาลจัดตั้งองค์กรสาธารณะขึ้นใหม่นี้ คล้ายกับการจัดตั้งเอสพีวีหรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีข้อดีคือสามารถทำหน้าที่ได้อย่างคล่องตัว เนื่องจากการจัดการมีความเป็นธุรกิจ สามารถกู้เงินจากธนาคาร และเข้าระดมทุนจากตลาดหุ้นได้ รวมทั้งทำให้การทำงานทั้งระบบเชื่อมโยงกัน ลดการสูญเสียทรัพยากรไปได้ในทางหนึ่ง  แต่การจัดตั้งองค์กรในรูปแบบเอสพีวีนี้ เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงและเปิดช่องทางให้ทุจริตได้ง่าย เนื่องจากเอสพีวีมีลักษณะเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจที่รูปแบบทางบัญชีไม่มีการแสดงให้เห็นในงบประมาณแผ่นดิน รัฐสามารถสร้างหนี้ได้โดยไม่มีการบันทึกเป็นหนี้สาธารณะ ทำให้หนี้ภาครัฐ หรือ “หนี้รวม” ที่ประกาศออกมาอาจจะไม่สะท้อนสภาพความจริง

การที่รัฐบาลได้ประกาศว่า จะรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยจะไม่ก่อหนี้เกินร้อยละ 49 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ การก่อหนี้สาธารณะจึงถือเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของรัฐบาลในการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจคท์ ประกอบกับรัฐบาลได้ให้สัญญากับประชาชนไว้มากมายในโครงการต่าง ๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างหนี้ แต่จะประกาศยอดหนี้ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน การก่อหนี้ที่ไม่ปรากฏในบัญชีหนี้สาธารณะเป็นสิ่งที่ควรระวัง หากหนี้ดังกล่าวกลายเป็นปัญหาขึ้นมาเมื่อใด จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนมหาศาล เพราะเงินที่จะนำมาใช้หนี้สาธารณะนี้ ล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

                รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า โครงการขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูง เพราะผลการศึกษาโครงการขนาดใหญ่ 258 โครงการทั่วโลก พบว่าโครงการส่วนใหญ่มีความผิดพลาดในการประเมินต้นทุนและรายได้ และสาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากปัญหาด้านความรับผิดรับชอบ (accountability) มากกว่าปัญหาเชิงเทคนิค และมักเกิดปัญหาในรัฐบาลที่มีอำนาจการตัดสินใจ โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้นผมอยากเชิญชวนมิตรสหายให้ช่วยกันจับตาดูการดำเนินงานของรัฐบาลให้ดีครับ