Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


จะแก้ปัญหาการผูกขาดจากการจดสิทธิบัตรอย่างไร
( How to solve monopoly problem due to patent right protection? )

 

16 กุมภาพันธ์ 2550

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

             การที่กระทรวงสาธารณสุขแสดงความกล้าหาญประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาที่ติดสิทธิบัตร 2 รายการ ให้สามารถผลิตหรือนำเข้ายาเลียนแบบจากประเทศที่สาม ตามมาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ compulsory licensing (CL) ภายใต้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร โดยให้เหตุผลว่า ราคาจำหน่ายยามีราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้

          เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาต่างประเทศ เพราะหมายถึงอำนาจผูกขาดในการจำหน่ายยาของบริษัทเหล่านี้จะหมดไป นำมาซึ่งผลกำไรของบริษัทที่จะลดลง

         สถานการณ์ดังกล่าว เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เกิดจากการที่ผู้ผลิตยาใช้อำนาจผูกขาดทางการค้าที่ได้มาจากการจดสิทธิบัตร ในการกำหนดราคาสินค้าที่สูงเกินจริง หรือการควบคุมจำนวนการผลิตสินค้า จนทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

          เป้าหมายที่แท้จริงของการจดสิทธิบัตร หรือการให้อำนาจผูกขาดกับผู้จดสิทธิบัตร เป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ และช่วยคุ้มครองให้ผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมสามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากการคิดค้นนวัตกรรมต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และมีความเสี่ยงสูงที่การคิดค้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ

         แต่การให้อำนาจผูกขาดอย่างสมบูรณ์แก่ผู้คิดค้นนวัตกรรม มีข้อเสียคือ ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่สูงมาก รวมทั้งอาจไม่ได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดที่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคจึงไม่มีทางเลือกในการบริโภค เพราะต้องซื้อสินค้าและบริการจากผู้ผลิตรายเดียว

         กรณีดังกล่าว นำมาสู่คำถามที่ว่า มีวิธีอื่นนอกจากการจดสิทธิบัตรหรือไม่ ที่จะทำให้ผู้คิดค้นนวัตกรรมมีแรงจูงใจจากการคิดค้นนวัตกรรม โดยได้รับผลตอบแทนจากการคิดค้นอย่างคุ้มค่า แต่ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากการไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกิดจากนวัตกรรมดังกล่าวได้

           แนวคิดหนึ่งที่ผมขอนำเสนอ คือ การทำให้นวัตกรรมเป็นสินค้าสาธารณะ โดยที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเพื่อชดเชยให้กับผู้ที่คิดค้นนวัตกรรม เนื่องจากผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม แต่กลับเป็นผู้ที่แบกรับต้นทุนไว้เอง

          รูปธรรมของแนวคิดนี้ คือ การที่รัฐบาลร่วมลงทุนกับผู้คิดค้นนวัตกรรม หรือซื้อองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผู้คิดค้นนวัตกรรม โดย รัฐจ่ายเงินให้กับผู้ที่สามารถคิดค้น นวัตกรรมได้ แล้ว ขายหรือให้สิทธิในการผลิตแก่ภาคเอกชน หลายราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันผลิตสินค้าดังกล่าว ส่วนรัฐบาลจะมีรายได้กลับคืนจากภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการผลิตและขายสินค้าดังกล่าว

          อีกวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาการผูกขาดทางการค้า คือ การอนุญาตให้มีการแข่งขันผลิตสินค้าเลียนแบบนวัตกรรมได้อย่างเสรี แต่ รัฐบาล จะต้อง มีส่วนเข้ามาแทรกแซงผ่านการเก็บภาษีพิเศษ จากผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าเลียนแบบ และ นำเงินภาษีส่วนนี้มาชดเชย ให้กับ ผู้ที่คิดค้น นวัตกรรมนั้น โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเก็บอัตราภาษีร้อยละเท่าไรของราคาสินค้าและบริการ และเก็บเป็นจำนวนกี่ปี โดยพิจารณาจากต้นทุนในการคิดค้นนวัตกรรม และประโยชน์ที่สังคมได้รับ

          วิธีการดังกล่าวทำ ให้ราคาสินค้าและบริการไม่สูงเท่ากับกรณีที่มีการผูกขาด โดยผู้ผลิตรายเดียว ทำให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงนวัตกรรมได้มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ผลิตที่มากรายจะจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ และพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ในขณะที่ผู้สร้างนวัตกรรมได้รับผลตอบแทนกลับคืนจากการคิดค้นด้วย แต่เงื่อนไขความสำเร็จของวิธีการนี้คือ การกำหนดกลไกการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้คิดค้นนวัตกรรมในระดับที่เหมาะสม                                                                                                                                                                                                                                                      
          แนวคิดดังกล่าวเป็นหนึ่งทางออกในการแก้ปัญหาการผูกขาดทางการค้าจากการจดสิทธิบัตร โดยในจดหมายข่าวฉบับหน้า ผมจะขอกล่าวถึงแนวคิดอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติม
 


-------------------------------