Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


ปฏิรูปกระบวนการเจรจา FTA
Reforming the FTA discussion procedures

 
 

7 กุมภาพันธ์ 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

การเจรจา FTA ไทย สหรัฐ ที่ผ่านมา 18 เดือน 6 รอบ มีหลายเหตุการณ์ที่แตกต่างจากการเจรจา FTA กับประเทศอื่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงของภาคประชาชนหน้าสถานที่เจรจา การลาออกของหัวหน้าคณะเจรจา เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการเจรจา FTA ผมจึงขอเสนอหลักการในการปฏิรูปกระบวนการเจรจา FTA ดังนี้

การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลควรสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย เพราะการเจรจา FTA ที่ผ่านมาอาจมีการรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการ แต่ขาดกลไกในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการรายย่อย ภาคประชาชน เกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งนี้รัฐบาลอาจจะจัดตั้งคณะทำงานรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อทำหน้าที่ในการรับประเด็นจากคณะเจรจากับประเทศต่าง ๆ ออกไปพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยนำข้อตกลง FTA เข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาและอนุมัติ เพราะการเจรจามักเป็นไปอย่างรีบเร่งและไม่เปิดเผยข้อมูล ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ผลกระทบมาก รัฐบาลไม่ควรปฏิเสธกลไกนี้ โดยอ้างว่ารัฐสภาไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการดูถูกความรู้ความสามารถของ ส.. และ ส..

การเจรจาบนฐานการศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะการเจรจา FTA ที่ผ่านมาขาดการศึกษาอย่างครบถ้วน เช่น การเจรจาเปิดเสรีภาพบริการโดยขาดฐานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจบริการ การส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนที่ติดขัดกฎระเบียบของมณฑลต่าง ๆ ความขัดแย้งระหว่างการเปิดเสรีโคเนื้อกับโครงการโคล้านครอบครัว เป็นต้น การเปิดเสรี FTA กับสหรัฐฯ ซึ่งมีเครื่องมือจำนวนมากที่จะใช้ในการกีดกันทางการค้า ไทยจึงมีโอกาสเสียเปรียบค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงควรศึกษาและวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างรอบคอบ และตัดสินใจบนฐานข้อมูลการศึกษาวิจัยครบถ้วนและรอบคอบ ทั้งการศึกษาวิจัยระดับมหภาคและระดับจุลภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ประการสุดท้าย ความเป็นธรรมในสังคม โดยกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อม และกลไกการชดเชยตั้งแต่ก่อนเปิดเสรี เพราะเท่าที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการล่วงหน้า ขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับกลไกการชดเชยและการจัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างภาคเกษตรเกิดขึ้นภายหลังการเปิดเสรีไปแล้ว จึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที

เหล่านี้เป็นหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ของกระบวนการเจรจาการค้าเสรีที่รัฐบาลควรยึดถือ เพื่อให้การเจรจาการค้าเสรี เป็นไปด้วยความสมานฉันท์ ไม่สร้างความไม่เป็นธรรม และก่อผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ